ข่าวปลอม หรือ เฟคนิวส์ ยังคงมีในทุกยุคสมัย โดยในยุคที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ก็มีข่าวปลอมออกมาอย่างมากมายเช่นกัน ซึ่งบางข่าวก็ดูน่าเชื่อถือและสร้างความเดือดร้อนหรืออันตรายให้กับผู้ที่หลงเชื่อเป็นอย่างมาก เจมาร์ทประกันภัย จึงได้รวบรวมข่าวปลอมโควิด-19 ที่คุณควรทราบ มาฝากกันค่ะ
ข่าวปลอม โควิด-19 ข่าวที่ 1 : ชุดตรวจโควิด-19 แบบ Rapid Test สามารถใช้ตรวจเองได้ !
จากที่มีการนำชุดตรวจโควิด-19 แบบ Rapid Test มาขายออนไลน์ และระบุว่าประชาชนสามารถซื้อมาตรวจเองได้เลย จริง ๆ แล้ว กระทรวงสาธารณสุข ไม่อนุญาตให้ขายชุดตรวจเร็วในช่องทางออนไลน์ เพราะชุดตรวจ Rapid Test เป็นการตรวจว่ามีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 หรือไม่ ซึ่งต้องตรวจและแปลผลโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น เพราะหากแปลผลผิด ก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัวแพร่เชื้อไปถึงผู้อื่นได้
(ที่มาข้อมูล https://mgronline.com/factcheck/detail/9640000004114)
ข่าวปลอม โควิด-19 ข่าวที่ 2 : หน้ากากอนามัยแบบ non-medical mask ไม่สามารถช่วยป้องกันโควิด-19 ได้
จากกระแสการแชร์ข้อมูลว่า หน้ากากอนามัยแบบ non-medical mask หรือหน้ากากที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ ไม่สามารถช่วยป้องกันโควิด-19 ได้นั้น รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ให้ความรู้ว่า หน้ากากอนามัยแบบ non-medical mask ที่มีคุณภาพการผลิตดี แผ่นกรองหลายชั้น และไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อนนั้น บุคคลธรรมดาก็สามารถนำมาใช้ใส่เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้
(ที่มาข้อมูล www.dailynews.co.th/regional/818473)
ข่าวปลอม โควิด-19 ข่าวที่ 3 : ดื่มน้ำมะนาวผสมเกลือฆ่าโควิด-19 ได้ !
จากการแชร์ข้อมูลว่าการดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือ น้ำสมุนไพร และน้ำมะนาว สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น กรมควบคุมโรคได้ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง และเป็นการสร้างข้อมูลเท็จ มาเผยแพร่ซ้ำ เพราะปัจจุบันยังไม่มีรายงานทางการแพทย์ใดยืนยันว่าการดื่มน้ำมะนาวผสมเกลือนั้น ช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
(ที่มาข้อมูล https://mgronline.com/uptodate/detail/9640000000016)
ข่าวปลอม โควิด-19 ข่าวที่ 4 : สเปรย์สำหรับพ่นปากและคอ ช่วยฆ่าโควิด-19 ได้!
จากที่มีการแชร์ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์สเปรย์สำหรับพ่นปากและคอ (เบตาดีน โทรตสเปรย์) สามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ชี้แจงว่า แม้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะผ่านการอนุญาตกับอย. ก็ตาม แต่มีเพียงสรรพคุณเป็นยาฆ่าเชื้อโรค ลดอาการอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอเท่านั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
(ที่มาข้อมูล https://mgronline.com/factcheck/detail/9630000129912)
ข่าวปลอม โควิด-19 ข่าวที่ 5 : โควิด-19 แพร่กระจายผ่านอากาศ (Airborne)
ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่าง ๆ ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายผ่านอากาศนั้น กรมควบคุมโรคได้ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง การติดต่อของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลัก ๆ ยังคงแพร่กระจายผ่านละอองเสมหะ (droplets) ซึ่งผู้รับเชื้อต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ไอ จาม ในระยะน้อยกว่า 90 ซม. และต้องสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เข้าทางเยื่อเมือก เป็นต้น
(ที่มาข้อมูล www.antifakenewscenter.com/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-เชื้อไวรัสโควิด-19-แพร่กระจายผ่านอากาศ-airborne/)
ข่าวปลอม โควิด-19 ข่าวที่ 6 : มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากพัสดุ
กรณีมีข้อความปรากฏบนสื่อออนไลน์ว่า ไปรษณีย์ไทยได้แจ้งขอให้ทุกท่านที่ได้รับจดหมาย หรือพัสดุไปรษณีย์ ให้ใส่ถุงไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนเปิด หรือฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนนำเข้าบ้าน เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วนั้น ไปรษณีย์ไทยแจ้งว่า ไม่เป็นความจริง และทางไปรษณีย์ไทยได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรค COVID-19 อย่างเข้มงวด ตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงาน สถานที่ รวมถึง การดูแลความสะอาดไปรษณียภัณฑ์ทุกชิ้น พร้อมพ่นยาฆ่าเชื้อรถขนส่งไปรษณีย์ทุกคัน เป็นต้น
(ที่มาข้อมูล www.thairath.co.th/news/local/2005953)
ข่าวปลอม โควิด-19 ข่าวที่ 7 : ยืนตากแดด ฆ่าโควิด-19 ได้ !
หนึ่งในหลายเรื่องเกี่ยวกับการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการนำมาแชร์ซ้ำก็คือ การยืนตากแดดจะสามารถฆ่าเชื้อได้ ซึ่งทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าการยืนตากแดดนั้นสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ เพราะเชื้อไวรัสตระกูลโควิด-19 นั้นสามารถทนทานต่อความร้อนได้ถึง 90 องศา ซึ่งความร้อนจากแสงแดดนั้นมีความร้อนไม่ถึงระดับนี้แน่นอน ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไวรัสชนิดนี้จะตายเมื่อโดนความร้อนที่อุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานต่อเนื่อง 30 นาที ซึ่งแสงแดดก็ไม่สามารถทำให้เกิดความร้อนในระดับนี้ได้เช่นกัน
(ที่มาข้อมูล : www.hfocus.org/content/2021/01/20870)
ข่าวปลอม โควิด-19 ข่าวที่ 8 : เลือดเป็นด่างมีโอกาสติดโควิด-19 ได้น้อยลง
เป็นเรื่องที่แชร์กันมากตั้งแต่ ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ ๆ เลยทีเดียว โดยมีการอ้างว่า คนที่กินเจ กินแต่ผักผลไม้ จะทำให้เลือดเป็นด่าง และเชื้อโควิด-19 จะไม่สามารถทำอันตรายใด ๆ ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง โดย พ.ต.ต.นพ.ธนิต จิรนันท์ธวัช อายุรแพทย์ และโฆษกโรงพยาบาลตำรวจ ได้อธิบายผ่านสื่อมวลชน เรื่องค่า pH ของเลือดมนุษย์ที่จะอยู่ที่ 7.35-7.45 และการบริโภคผักและผลไม้ก็ไม่สามารถเปลี่ยนค่านี้ได้ นอกจากนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ใด ที่ยืนยันว่าการรับประทานผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นด่าง มีผลในการช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
(ที่มาข้อมูล : https://news.thaipbs.or.th/content/300190)
ข่าวปลอม โควิด-19 ข่าวที่ 9 : สูตรยาสมุนไพร 3 แม่ทัพ ใช้รักษาโควิด-19 ได้
จากการแชร์ข้อมูลเรื่องการรักษาโควิด-19 ด้วยสูตรยาสมุนไพร ที่ประกอบด้วย ขมิ้นชัน หอมแดง กระเทียม และมันมะพร้าวสกัดเย็นนั้น ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ชี้แจงว่า สมุนไพรดังกล่าวยังเป็นเพียงทางเลือกเสริมในการบรรเทาอาการเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่สามารถใช้เป็นยารักษาโรคโควิด-19 ได้ ต้องศึกษาวิจัยในคนเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลการรักษาก่อนเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนเป็นยาต่อไป
(ที่มาข้อมูล https://mgronline.com/factcheck/detail/9640000003838)
เมื่อทราบข้อมูลเช่นนี้แล้ว เราก็สามารถระมัดระวังที่จะไม่หลงเชื่อข่าวปลอมต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งก็จะช่วยให้เราปลอดภัยไปอีกขั้น และอีกสิ่งที่จะช่วยให้คุณและครอบครัว อุ่นใจกับสถานการณ์โควิด-19 ได้มากยิ่งขึ้น ก็คือ ประกันภัยโควิด-19 New Normal ของ JAYMART ประกันภัย สนใจติดต่อสอบถามปรึกษาประกันภัยที่เหมาะสมกับคุณได้ที่ 02 099 0555 ต่อ 7102 7103 และ 1112
By JAYMART Content Team : RIYA