การออมเงินเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้อนาคตของเรามีความมั่นคง ตั้งแต่วัยที่ก่อร่างสร้างตัวไปจนถึงวัยเกษียณเลยทีเดียว แต่บางครั้ง คุณอาจสงสัยว่า ทำไมยังเก็บออมเงินไม่ได้มากสักที และทำอย่างไรจะสามารถออมเงินได้มากกว่านี้ เจมาร์ท ประกันภัย มีทิปส์ง่าย ๆ ที่จะช่วยคุณเพิ่มเงินออม มาฝากกันค่ะ
1. ใช้น้อยกว่าที่หาได้ :
แน่นอนว่าถ้าเราใช้น้อยกว่าที่หามาได้ เราก็จะต้องมีเงินเหลือสำหรับออม เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีการจดบันทึก มีการทำบัญชี เพื่อที่จะมองเห็นภาพว่า แต่ละเดือนใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง โดยให้ลองรวมค่าใช้จ่ายเป็นหมวดหมู่ดู ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร สุขภาพ เดินทาง เสื้อผ้า ความบันเทิง หรือการสังสรรค์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดความยั้งคิดในการใช้เงินมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานค้าขาย ยิ่งจะต้องทำบัญชีเพื่อจะเห็นว่าหาเงินมาได้เท่าไหร่ มีกำไรเท่าไหร่ ก็จะต้องใช้ให้น้อยกว่ากำไรที่หามาได้ ไม่สับสนกับเงินหมุน
2. ออมก่อน ใช้ทีหลัง :
ให้เราประเมินและตั้งเป้าไว้เลยว่าในแต่ละเดือน เราจะออมกี่ % เช่น 20% 30% ของรายได้ ซึ่งเราก็จะต้องคำนวณพิจารณาด้วยว่าแต่ละเดือนมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายส่วนไหนเท่าไหร่และสามารถออมได้เท่าไหร่ และเมื่อเราได้รับเงินเดือนหรือมีรายได้เข้ามา ก็ให้แยกเงินออกมาสำหรับออมก่อนทันที ตามสัดส่วน % ที่วางไว้ แล้วค่อยนำเงินส่วนที่เหลือจากออม ไปใช้จ่ายตามที่เราคำนวณไว้ เพียงเท่านี้เงินออมของเราก็จะปลอดภัย เพราะเมื่อเราใช้เงินแบบมีการวางแผน เราก็จะไม่เผลอใช้เงินเพลินจนไม่เหลือเงินออม
3. แยกบัญชี แยกเป้าหมาย :
หลายคนไม่อยากยุ่งยากในการมีบัญชีธนาคารหลายบัญชี แต่จริง ๆ การมีบัญชีเดียว บางครั้งเราก็อาจเผลอใช้เงินเกินกว่าที่ตั้งใจได้ เพราะลืมไปว่า ยอดเงินรวมที่เห็นอยู่ มีส่วนที่ตั้งใจจะเก็บไว้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน เช่น ออมไว้เพื่อการศึกษาของลูกหรือของเราเอง ออมไว้เพื่อซื้อบ้าน หรือออมไว้ใช้ยามเกษียณ เป็นต้น แต่หากเราเปิดบัญชีแยกสำหรับแต่ละวัตถุประสงค์กันไปเลย หรืออย่างน้อย แยกระหว่างบัญชีที่จะไว้ใช้จ่าย กับ บัญชีที่ต้องการออม เราก็จะไม่เผลอนำเงินส่วนที่ตั้งใจไว้ออมออกมาใช้
4. เร่งเคลียร์ เพื่อออม :
หลายคนก็มีรายจ่ายแบบผ่อนด้วย เช่น ผ่อนบ้าน หรือผ่อนเงินกู้ส่วนบุคคล ที่กำหนดไว้แล้วว่าในแต่ละเดือนจะต้องแบ่งเงินมาผ่อนเท่าไหร่ แต่หากเดือนใดคุณมีเงินเหลือ มีโบนัส หรือรายได้เสริมเข้ามา ก็แนะนำให้คำนวณแบ่งเงินนั้นมาจ่ายเงินผ่อนหรือเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกก่อน เพราะเมื่อเราก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยไปกับการผ่อนสินค้าหรือเงินกู้ ซึ่งส่วนมากก็มักจะมากกว่าดอกเบี้ยเงินออมของเราแน่ ๆ ดังนั้น ขณะที่เราออมเงินไปด้วย แต่ผ่อนของไปด้วย มันก็จะเหมือนกับว่า เราขาดทุนดอกเบี้ยเงินออมไปทีละนิดโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง
5. กู้ได้ จ่ายดอก :
เงินออมที่เราฝากเข้าบัญชีไปแล้ว ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรจะไปยุ่งกับบัญชีนั้นอย่างเด็ดขาด ยกเว้นกรณีที่ถ้าเราพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าจำเป็นจริง ๆ เราก็ไม่ต้องไปหากู้จากสถาบันการเงินไหน กู้จากบัญชีเงินออมของเราเองนี่แหละค่ะ แต่เมื่อนำเงินออกมาแล้ว ก็ให้ถือเสมือนว่าเรากำลังกู้เงินจริง ๆ และเมื่อนำเงินมาคืนเข้าบัญชี ก็ให้คืนเข้าพร้อมกับดอกเบี้ย และต้องคำนวณให้ครอบคลุมจำนวนเงินที่เราควรจะได้ดอกเบี้ยเงินออมจากธนาคารด้วยนะคะ โดยมีข้อควรระวังนิดนึงว่า การกู้เงิน (ตัวเอง) เราจะต้องมั่นใจว่าจะคืนได้ในเวลาไม่นานมากนัก และควรให้มีเงินคงเหลือไว้ในบัญชี ที่เพียงพอสำหรับสำรองจ่ายยามฉุกเฉินได้อย่างน้อย 3-6 เดือนด้วยค่ะ
6. หาตัวช่วยออม :
มีบางคนบอกว่า พอเก็บเงินสดไว้ในธนาคารแล้ว ก็อาจอดใจไม่ไหว ต้องหาเหตุผลเบิกออกมาใช้จนได้ ลองหาตัวช่วยออมเงินต่าง ๆ อย่างเช่น สลากออมสิน ที่อย่างน้อยคุณก็จะเก็บเงินไว้ได้ไม่หายไปไหนจนกว่าจะครบอายุ และยังมีโอกาสถูกรางวัลอีกด้วย หรืออาจแบ่งไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ก็ได้ค่ะ ทั้งนี้ การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง เราจะต้องศึกษาข้อมูลให้เข้าใจ และประเมินความสามารถในความเสี่ยงของตัวเอง ก่อนตัดสินใจลงทุนด้วยนะคะ
และแม้ว่าเราจะวางแผนการออมเงินอย่างดี เพื่อความมั่นคงของชีวิตแล้ว แต่เหตุการณ์ไม่คาดคิดในด้านอื่นของชีวิต ก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นคุณจึงควรมองหาประกันภัยที่ดี เพื่อมาช่วยดูแลความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ อย่าง ประกันภัย จาก เจมาร์ท ประกันภัย ที่มีให้เลือกคุ้มครองในทุกความเสี่ยงของชีวิต สอบถามประกันภัยที่เหมาะสมที่จะดูแลคุณได้ที่ 02 099 0555 ต่อ 4262 หรือที่ LINE : @jaymartinsurance
By JAYMART Content Team : RIYA