หน้าฝนที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ฝนตกบ่อย และมีน้ำขังเฉอะแฉะนั้น เป็นสภาวะที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว ดังนั้น นอกจากสถานการณ์โควิด ที่เราต้องระมัดระวังกันแล้ว ก็ยังต้องดูแลรักษาตัวเองอย่างถูกต้อง ให้ปลอดภัยจากโรคภัยต่าง ๆ ที่อาจเข้ามาเยือนในช่วงนี้ด้วยนะคะ
JAYMART ประกันภัยจึงได้รวบรวมข้อมูลโรคที่ต้องระมัดระวังในช่วงฤดูฝนมาฝากดังนี้ค่ะ
กลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ
1) โรคไข้หวัดใหญ่
• การติดต่อ : เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ในกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่มักระบาดในช่วงฤดูฝน ติดต่อกันผ่านระบบทางเดินหายใจ เช่น การไอหรือจามใส่กัน
• อาการ : มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดตามเนื้อตัว ในรายที่รุนแรง อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ
• การป้องกัน : ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขอนามัย รักษาร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกายผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
2) โรคปอดอักเสบ
• การติดต่อ : พบได้ในกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ ติดต่อทางการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย หรือไอจามรดกัน
• อาการ : ผู้ป่วยบางรายมีอาการเหมือนหวัดทั่วไป เช่น น้ำมูกไหล ไอ จาม อาจมีไข้สูง หอบเหนื่อยและเจ็บหน้าอก เสมหะเหนียวข้น ปอดจะมีหนองหรือมีของเหลวภายในถุงลม ทำให้ไม่สามารถรับออกซิเจนได้เต็มที่ หากมีอาการรุนแรงมาก อาจทำให้เสียชีวิตได้
• การป้องกัน : ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขอนามัย รักษาร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกายผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะหากพบผู้ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ ให้มีความระมัดระวังยิ่งขึ้น
กลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร
3) โรคอหิวาตกโรค
• การติดต่อ : เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย วิบริโอ โคเลอรี ภายในลำไส้ ซึ่งผู้ป่วยได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อน
• อาการ : ถ่ายเหลวเป็นน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีภาวะขาดน้ำรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้
• การป้องกัน : รักษาสุขอนามัย ทั้งการรับประทานอาหารและการปรุงอาหาร ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เช่น ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือเมื่อจับสิ่งของต่าง ๆ รักษาความสะอาดของภาชนะที่ใช้ใส่อาหารและน้ำดื่ม รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำที่สะอาด เก็บรักษาอาหารสดในตู้เย็น
4) โรคอุจจาระร่วง
• การติดต่อ : เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต โปรโตซัว หรือพยาธิในลำไส้ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด โดยได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป
• อาการ : ถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้
• การป้องกัน : รักษาสุขอนามัย ทั้งการรับประทานอาหารและการปรุงอาหาร ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เช่น ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือเมื่อจับสิ่งของต่าง ๆ รักษาความสะอาดของภาชนะที่ใช้ใส่อาหารและน้ำดื่ม รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำที่สะอาด เก็บรักษาอาหารสดในตู้เย็น
5) โรคอาหารเป็นพิษ
• การติดต่อ : เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต
• อาการ : รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายท้อง หมดแรง โดยทั่วไปมีอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง มักจะหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
• การป้องกัน : การป้องกัน : รักษาสุขอนามัย ทั้งการรับประทานอาหารและการปรุงอาหาร ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เช่น ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือเมื่อจับสิ่งของต่าง ๆ รักษาความสะอาดของภาชนะที่ใช้ใส่อาหารและน้ำดื่ม รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำที่สะอาด เก็บรักษาอาหารสดในตู้เย็น
กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง
6) โรคไข้เลือดออก
• การติดต่อ : เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในฤดูฝน
• อาการ : มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีจุดแดงที่ผิวหนัง เซื่องซึม หากอาการรุนแรงจะเกิดภาวะช็อกได้ ดังนั้นเมื่อสังเกตว่ามีอาการของโรคดังที่กล่าวมา ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
• การป้องกัน : กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด
7) โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา
• การติดต่อ : เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ในทุกวัย
• อาการ : อาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีอาการช็อก
• การป้องกัน : กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด
โรคติดต่ออื่น ๆ ที่ติดต่อทางการสัมผัสเป็นหลัก
8) โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู
• การติดต่อ : ติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง และเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบบ่อยในผู้มีอาชีพเกษตรกรรม เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ที่ต้องสัมผัสกับดินหรือน้ำอยู่เป็นประจำ ตลอดจนคนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โค สุกร ปลา ผู้ที่ทำงานขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น และอาจพบได้ในที่ที่มีน้ำท่วม หรือสถานที่ที่มีหนูอยู่เป็นจำนวนมาก
• อาการ : ที่พบบ่อยคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อน่องและโคนขาอย่างรุนแรง โดยประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อคได้
• การป้องกัน : หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องลุยน้ำย่ำโคลน หรือเดินในบริเวณที่มีน้ำขังเป็นเวลานาน ๆ หากจำเป็นควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมทุกครั้ง เช่น สวมรองเท้าบูทยาว ถุงมือยาว โดยเฉพาะหากมีบาดแผล ต้องป้องกันไม่ให้แผลโดนน้ำได้
9) โรคมือ เท้า ปาก
• การติดต่อ : เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก และพบในผู้ใหญ่บ้างเป็นส่วนน้อย จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส หรืออุจจาระของผู้ป่วย
• อาการ : อาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด มีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม มีผื่นแดงหรือตุ่มบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่แขน ขา หรือก้น และมีอาการไข้เป็นระยะเวลา 5-7 วัน ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และหายเองได้
• การป้องกัน : ดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดี โดยในเด็ก ผู้ปกครองและครูควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลาน หากพบว่ามีอาการสงสัยป่วย ให้รีบพาไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายดี
10) โรคตาแดง
• การติดต่อ : เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่ที่พบส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อไวรัส อะดิโนไวรัส ติดต่อได้ง่าย จากการสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง เช่น มือ หรือ สิ่งของที่ผู้ป่วยสัมผัส ไอ จาม รดกัน หรือมีน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
• อาการ : อาการของโรคตาแดงอาจเกิดกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างก็ได้ โดยจะมีอาการตาแดง ปวดเล็กน้อยในเบ้าตา คันและเคืองตา น้ำตาไหล เปลือกตาบวม อาจพบตุ่มเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ในกรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จะมีขี้ตามากทำให้ลืมตายากในช่วงตื่นนอน
• การป้องกัน : รักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตา ระมัดระวังไม่ให้มีน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ระมัดระวังไม่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคตาแดง
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลเพชรเวช, พบแพทย์
และแม้ว่าเราจะป้องกันโรคภัยต่าง ๆ ที่มากับหน้าฝนได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เราไม่อาจควบคุมได้ในด้านอื่น ๆ ก็ยังมีโอกาสอาจเกิดขึ้นได้เสมอ เราจึงควรหาตัวช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้กับตัวเองและครอบครัว อย่าง ประกันภัยไข้เลือดออก ที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และชดเชยรายวันสูงสุดถึง 30 วัน เบี้ยเริ่มต้นเพียง 100 บาท/ปี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02 099 0555 ต่อ 4262 หรือ LINE : @jaymartinsurance ค่ะ
By JAYMART Staff : RIYA