ข่าวสารและบทความ

7 ข้อมูลสำคัญ ไข้เลือดออก ที่ต้องรู้ และ 12 วิธีป้องกันไข้เลือดออก

7 ข้อมูลสำคัญ ไข้เลือดออก ที่ต้องรู้ และ 12 วิธีป้องกันไข้เลือดออก

นอกจากการระมัดระวังตัวเองสำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ขณะนี้มีอีกเรื่องที่ประมาทไม่ได้ก็คือ โรคไข้เลือดออก ที่มาพร้อมกับพายุฤดูร้อน ที่ฝนตกน้ำขัง ก่อให้เกิดปัญหายุงลาย และตามมาด้วย ไข้เลือดออก ที่คร่าชีวิตของคนไทยไปไม่น้อยในแต่ละปี JAYMART ประกันภัย จึงได้รวบรวมข้อมูลสำคัญของโรคไข้เลือดออก และวิธีป้องกันมาฝากกันค่ะ  

 

ข้อมูลสำคัญของไข้เลือดออก

 

1. พยากรณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 : กรมควบคุมโรค ได้พยากรณ์โรคไข้เลือดออก โดยวิธีการทางสถิติย้อนหลัง 10 ปี ไว้ว่า ในปี 2563 จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ถึงประมาณกว่า 140,000 ราย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2563 จาก posttoday.com) แต่อย่างไรก็ตามจากการทดสอบโมเดลการพยากรณ์ ไม่สามารถวัดผลที่แม่นยำในระยะยาวได้ ดังนั้น จึงควรมีการพยากรณ์ใหม่ทุก 3-4 เดือน

 

2. ข้อมูลโรคไข้เลือดออกในปี 2563 : นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-14 เมษายน 2563 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 8,746 ราย เสียชีวิต 6 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากสุดคือ 5-14 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี และอายุแรกเกิด-4 ปี ตามลำดับ 

 

3. ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก : โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง โดยหากพิจารณาจากสถิติในปี 2559 นั้น ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออก ประมาณ 5 หมื่นราย เสียชีวิต 57 ราย เท่ากับผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย จาก 2 สาเหตุ คือภาวะเลือดออกมาก และเลือดรั่วจากเส้นเลือดจนเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิต 

 

4. กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตจาก ไข้เลือดออก : สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิต จะอยู่ในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-4 ปี และวัยผู้ใหญ่ ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 0.28 เนื่องจากผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัว และเมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออก ก็จะมีภาวะแทรกซ้อน ส่งผลให้รักษาได้ยาก นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ส่วนมาก เมื่อมีอาการป่วย ก็มักไปหาซื้อยารับประทานเอง ทำให้ไม่ได้ไปพบแพทย์ และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ 

 

5. สาเหตุการติดเชื้อไข้เลือดออก : ไวรัสเดงกี เป็นสาเหตุของไข้เลือดออก มี 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี 1, 2, 3 และ 4 โดยในประเทศไทยมีการระบาดของทั้ง 4 สายพันธุ์ ต่างกันไปแต่ละพื้นที่ โดยไวรัสเดงกีมียุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะที่เกิดจากยุงลายตัวเมีย ซึ่งออกหากินในเวลากลางวัน เมื่อไปกัดผู้ที่เป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูง เชื้อก็จะเข้าไปสะสมในเซลล์ผนังกระเพาะจนเพิ่มจำนวนมากขึ้น เข้าสู่ต่อมน้ำลาย โดยเชื้อไวรัสเดงกี จะมีระยะฟักตัวในตัวยุงประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงไปกัดคนต่อ ก็จะแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายของคนที่ถูกกัดนั้น และเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนจะมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 3-8 วัน หรืออาจยาวนานที่สุดถึง 15 วัน ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้ 

 

6. อาการของไข้เลือดออก : อาการของผู้เป็นไข้เลือดออก อาจเกิดขึ้นได้หลายแบบ แตกต่างกัน เช่น ในเด็กอาจมีอาการไข้และเป็นผื่น ในผู้ใหญ่อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตามหากสงสัยว่าเป็นโรคนี้ ก็ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพื่อรับการรักษา เพราะความรุนแรงของโรคอาจถึงชีวิตได้ โดยอาจสังเกตลักษณะสำคัญของอาการไข้เลือดออกได้ดังนี้

-    มีไข้สูงเฉียบพลัน ประมาณ 2-7 วัน

-    เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย

-    อาจมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา

-    อาจมีเลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟัน

-    ถ่ายอุจจาระดำเนื่องจากเลือดออก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการช็อคได้

-    ในรายที่ช็อคจะสังเกตได้จากการที่ไข้ลดแต่ผู้ป่วยซึมลง ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว หมดสติ ซึ่งอาจถึงเสียชีวิตได้

 

7. การรักษาไข้เลือดออก : เนื่องจากปัจจุบันนี้ ยังไม่มียาที่ใช้รักษาไข้เลือดออกโดยเฉพาะ และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การรักษาจะใช้วิธีประคับประคองอย่างใกล้ชิด ดังนี้

-    หากมีไข้สูง หรือปวดศีรษะ ควรใช้ พาราเซตามอล ลดไข้ ห้ามใช้ แอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกง่าย

-    ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำและเกลือในร่างกาย หากมีอาการอาเจียน ควรดื่มครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้ง

-    เฝ้าระวังภาวะช็อค และเลือดออก หากมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วยไข้ลด ให้รีบพาพบแพทย์ทันที

-    ติดตามเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงขึ้น ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที

 

จะเห็นได้ว่า ไข้เลือดออกนั้น อันตรายในระดับไม่ธรรมดา และแม้เรายังไม่มียาที่ใช้รักษา หรือวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก แต่เราสามารถป้องกันตัวเองและคนรอบข้างให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้

 

 

 

12 วิธีป้องกันไข้เลือดออก :

 

1. ระวังอย่าให้ยุงกัด โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน

2. เมื่อเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องไปตามพื้นที่เสี่ยงมียุง ต้องป้องกันตัวเอง ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดกุม เหมาะสม 

3. พกสเปรย์ฉีดกันยุงสำหรับร่างกาย ที่ปลอดภัย ติดตัวไว้ เช่น ตะไคร้หอม เพื่อนำออกมาใช้ได้ทันที เมื่อสังเกตเห็นว่ามียุงในบริเวณที่เราไป

4. ที่บ้าน ควรมีอุปกรณ์ป้องกันยุง เช่น มุ้ง มุ้งลวด และนอนในที่ที่ปลอดภัยจากยุง หรือกำจัดยุงให้เรียบร้อยก่อน และหากเปิดหน้าต่างนอน ควรนอนในมุ้ง

5. ใช้กลิ่นกันยุง เช่น เจลตะไคร้ หรือสารกันยุงอื่น ๆ ที่ปลอดภัย วางไว้ในบ้าน

6. เมื่อมียุง ฉีดสเปรย์ยากำจัดยุง ที่ปลอดภัย ชนิดออกฤทธิ์มีความเป็นพิษต่ำ โดยปิดประตูและหน้าต่างไว้ พาคนและสัตว์เลี้ยงออกจากพื้นที่ที่ฉีดยากันยุง ประมาณ 20 นาทีขึ้นไป และอย่าทิ้งอาหารไว้ในพื้นที่ฉีดยากันยุง เมื่อหมดกลิ่นสเปรย์แล้ว ควรทำความสะอาดบ้าน ก่อนพาคนและสัตว์เลี้ยงกลับเข้ามา

7. สำรวจภายในบริเวณบ้าน ว่าไม่มีสิ่งที่น้ำขัง ซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เช่น แทงค์น้ำ กระป๋อง กระถาง อ่าง กะละมัง ฯลฯ โดยให้จับคว่ำ หรือ หาฝาปิด กรณีเป็นของเก่ามาก ก็ให้เลือกทิ้งไป 

8. อย่าลืมตรวจดูตามจุดที่อาจหลงลืมไปได้ เช่น จานรองตู้กับข้าว ให้ใส่เกลือ หรือน้ำสมสายชูไว้

9. ภาชนะใส่น้ำในห้องน้ำ เช่น ตุ่ม หรือถังเก็บน้ำ ควรหลีกเลี่ยงสีดำหรือสีมืดๆ และหาฝาปิดไว้

10. หากมีบ่อน้ำ หรืออ่างที่ปลูกต้นไม้ในบ้าน ให้หาปลาหางนกยูงมาใส่ไว้ เพื่อกินลูกน้ำ 

11. เมื่อมีคนในบ้านเป็นไข้เลือดออก ควรแจ้งเพื่อนบ้านให้ระมัดระวังตัวจากยุง และให้ดูแลระมัดระวังผู้ป่วยไม่ให้โดนยุงกัด เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อต่อไป นอกจากนี้ ควรติดต่อเจ้าหน้าที่เทศบาลเพื่อเข้ามาฉีดพ่นยากำจัดยุง ก่อนจะเกิดการระบาด

12. ในขณะเดียวกัน เมื่อมีคนข้างบ้านเป็นไข้เลือดออก เราควรระมัดระวังตัวยิ่งขึ้น ไม่ให้โดนยุงกัด และสำรวจแหล่งน้ำบริเวณบ้าน และการกำจัดยุงดังที่กล่าวมาแล้ว

 

และแม้ว่าเราจะป้องกัน ดูแลปกป้องสุขภาพของเราอย่างดีแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เราไม่อาจควบคุมได้ ก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เราจึงควรหาตัวช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้กับตัวเองและครอบครัว อย่าง ประกันภัยไข้เลือดออก จาก JAYMART ประกันภัย โดยสามารถติดต่อสอบถามประกันภัยได้ที่ 02 099 0555 ต่อ 4262 หรือที่ LINE : @jaymartinsurance ค่ะ

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง :

- สสส. https://www.thaihealth.or.th/Content/40458-วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก.html

- โพสต์ทูเดย์ https://www.posttoday.com/life/healthy/622129

- กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/877342

- Voice TV https://www.voicetv.co.th/read/284547

- hfocus.org https://www.hfocus.org/content/2020/04/19051

- www.lpnh.go.th http://www.lpnh.go.th/icenter-health/index2.php 

- โรงพยาบาลวิภาวดี https://vibhavadi.com/health797

- โรงพยาบาลเปาโล https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/บทความ-โรคติดต่อ-เชื้อไวรัส/ไข้เลือดออก-อาการเริ่มต้นที่ต้องเฝ้าระวัง

- โรงพยาบาลบางประกอก https://www.bangpakok1.com/care_blog/view/30

- Siamhealth https://www.siamhealth.net/public_html/Disease/infectious/dhf/prevention.htm

 

 

By JAYMART Content Team : RIYA