ข่าวสารและบทความ

24 ทริค ขั้นตอนเลือกรถมือสอง อย่างคุ้มค่า สบายใจ ไม่โดนหลอก

24 ทริค ขั้นตอนเลือกรถมือสอง อย่างคุ้มค่า สบายใจ ไม่โดนหลอก

โดยทั่วไป ข้อดีของการซื้อรถมือสองคือ ราคาที่ถูกกว่ารถป้ายแดงค่อนข้างมาก ดังนั้นเราจึงสามารถเลือกรถที่ชอบในราคาที่ใช่ได้ เพียงแต่ก็ยังต้องระมัดระวังในการเลือกซื้อให้รอบคอบสักหน่อย ซึ่งก็ต้องมีการศึกษาหาข้อมูลพอสมควร ว่าการซื้อรถยนต์มือสอง จะต้องตรวจเช็คอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพทั้งภายในและภายนอกของรถ ประวัติรถ ตลอดจนเอกสารสำคัญ เนื่องจากการที่รถผ่านการใช้งานมาแล้ว อาจต้องมาซ่อมแซมเพิ่มเติม และอาจกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องให้คุณปวดหัวได้ JAYMART ประกันภัย จึงได้รวบรวมทริค ทิปส์ 24 ขั้นตอนการเลือกรถมือสอง มาฝากอย่างครบครัน เพื่อให้คุณสามารถเลือกซื้อรถที่เหมาะสมคุ้มค่ากับราคา หรืองบในใจ และห่างไกลจากปัญหาที่สุด มาฝากกันค่ะ

 

1. หาข้อมูล : ก่อนที่จะซื้อรถ เราควรที่จะต้องหาข้อมูลของรถที่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการใช้งาน ว่าต้องการยี่ห้อไหน รุ่นไหน ใกล้เคียงกับงบประมาณของเราหรือไม่ และหารายละเอียดเพิ่มเติมว่า รถแต่ละรุ่นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพราะยิ่งมีข้อมูลมาก ก็ยิ่งทำให้ตรวจสอบรถก่อนซื้อได้ตรงจุดยิ่งขึ้น และเมื่อเราพบรถที่ถูกใจ ก็ควรสังเกตว่ามีการดัดแปลง มีจุดบกพร่อง หรือมีการซ่อมแซมมาหรือไม่ พร้อมทั้งตรวจสอบราคากลาง สำหรับรถรุ่นนั้นที่มีสภาพดี ว่าโดยทั่วไปมีราคาเท่าไหร่ เพื่อที่ว่า เมื่อเราได้ไปตรวจสอบดูรถคันที่เราสนใจแล้ว เราจะสามารถประเมินราคาและต่อรองราคากับผู้ขายได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

 

2. ปรึกษาผู้รู้ : หากคุณไม่ได้เป็นผู้สนใจในการซื้อขายรถยนต์ หรือในการดูแลรถยนต์มาก่อน หรือยังไม่มั่นใจว่าจะมีความรอบคอบพอในการเลือกซื้อรถยนต์มือสอง ก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรืออาจจ้างช่างไปช่วยตรวจสอบสภาพรถด้วย และควรมีเพื่อนที่พอมีความรู้ด้านรถยนต์ไปช่วยกันดูอีกแรง หรือหากสามารถตกลงกับผู้ขายได้ ก็อาจจะขอส่งรถไปตรวจสอบกับศูนย์บริการตรวจสอบรถยนต์ที่ไว้ใจได้ก่อนตกลงซื้อ แต่อย่างไรก็ตาม คุณก็ควรหาข้อมูลไปก่อน ดังที่กล่าวมาแล้วในข้อแรก

 

3. เลือกผู้ขายที่น่าเชื่อถือ : ควรเลือกผู้ขายที่มีที่มาที่ไป เป็นที่รู้จัก หรือเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีจุดบริการเป็นหลักแหล่ง หรือ เป็นตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้งจากบริษัทรถยนต์ มีการบริการที่มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ อาจหาดูรีวิวจากผู้ใช้บริการด้วยก็ได้ค่ะ รวมถึงควรมีการรับประกันคุณภาพรถหลังการขาย และเมื่อจะเข้าไปดูรถ หากทำได้ ไม่ควรบอกผู้ขายไว้ล่วงหน้า ว่าเราจะเข้าไปดูรถคันไหน วันไหน เวลาอะไร เพื่อไม่ให้ผู้ขายมีเวลาเตรียมรถ เพื่อเราจะได้ไปดูสภาพรถเดิม ๆ และควรเดินทางไปดูรถในเวลากลางวัน เพื่อจะมองเห็นสภาพรถได้ชัดเจน และก่อนตรวจสอบสภาพรถ รถควรจอดอยู่บนพื้นราบ และไม่เอียงไปทางซ้ายหรือขวา 

 

4. ตรวจสอบสภาพสีของรถยนต์ : สีรถเป็นสิ่งแรกที่เรามองเห็นจากภายนอกได้ชัดเจนที่สุด โดยให้สังเกตดูแต่ละชิ้นส่วนของรถยนต์ตั้งแต่ด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง ด้านบน ตลอดจนตัวถังด้านใน ว่ามีความกลมกลืนเสมอกันของสี ไม่มีรอยเลอะ หรือสีเพี้ยน เมื่อใช้มือลูบดู หากรู้สึกว่าสาก ไม่เรียบลื่น ก็อาจผ่านการซ่อมแซมมาแล้ว 

 

 

 

 

5. ตรวจสอบสภาพห้องโดยสาร : ให้สังเกตดูสภาพทั่วไป อุปกรณ์ภายในต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เบาะนั่ง คอนโซล พวงมาลัย กระจกไฟฟ้า ที่อาจมีความผิดปกติในการใช้งาน เช่น เบาะมีรอยขาด หรือมีคราบอับชื้น มีรา หรือคราบสนิมในจุดอื่น ๆ หรือไม่ เพราะจะแสดงให้เห็นถึงสภาพการใช้งานและการดูแลรักษารถของผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี และทำให้ทราบได้ว่ามีอะไรเสียหาย แตกหัก ที่ต้องไปจัดการเพิ่มเติมหรือไม่

 

6. ตรวจสอบห้องเก็บของที่อยู่ส่วนท้ายรถ : เปิดดูว่าเรียบร้อยปกติดีหรือไม่ มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ความอับชื้น หรือราหรือไม่

 

7. ตรวจสอบเลขไมล์ : โดยปกติ รถจะมีระยะทางในการใช้งานประมาณ 25,000 – 35,000 กิโลเมตรต่อปี แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น อาชีพของผู้ขับขี่ และลักษณะการใช้งาน เช่น ใช้แต่ในพื้นที่ หรือขับไปต่างจังหวัดเป็นประจำด้วย โดย สภาพรถ ปีรถ และ ระยะทางขับขี่ ก็ควรสอดคล้องกัน  แต่หากห้องโดยสารดูใหม่ หรือโทรมกว่าเลขไมล์ อย่างไม่สัมพันธ์กัน ก็แสดงว่าอาจมีการปรับเลขไมล์หรือรถอาจผ่านการซ่อมหนักมาแล้วก็ได้ 

 

8. ตรวจสอบโครงสร้างรถยนต์ : หากรถยนต์เคยผ่านอุบัติเหตุมาก่อน โครงสร้างอาจเกิดความเสียหาย โดยควรตรวจสอบตั้งแต่ ห้องเครื่องรถยนต์ด้านหน้า ท้ายรถ ใต้ท้องรถ และสังเกตหัวน็อตตามจุดต่าง ๆ ว่าไม่ควรมีการถอดหรือขยับ สังเกตรอยเชื่อมต่าง ๆ ว่ามีการเชื่อมใหม่จากการซ่อมแซมหรือไม่ และ หากโครงสร้างรถเคยผ่านการซ่อมแซมมา สีบริเวณที่ถูกซ่อมแซมนั้นจะดูใหม่เงางามกว่าปกติ 

 

9. ตรวจสอบเลขตัวถังและเลขเครื่อง : ถ้าเลขไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หรือมีลักษณะถูกแก้ไข หรือขาดหายไป จะต้องสอบถามสาเหตุจากผู้ขาย และตรวจสอบรถอย่างละเอียด

 

10. ตรวจสอบท่อยางและสายพาน : ตรวจสอบว่ามีรอยร้าวรอยรั่วหรือรอยแตกลายงา รวมถึงยังมีสภาพความยืดหยุ่นดีหรือไม่ และสายพานต่าง ๆ ต้องไม่หย่อนหรือตึงเกินไป

 

 

 

 

 

 

 

11. ตรวจสอบแกนวัดระดับของเหลวต่าง ๆ : ต้องอยู่ในระดับปกติ มีสีใส ไม่ขุ่นดำ หรือมีกลิ่นไหม้ โดยการวัดระดับจากแกนวัดระดับเหล่านี้ ควรทำในขณะยังไม่สตาร์ทรถ

 

12. ตรวจสอบยางรถยนต์ : ตรวจสอบว่ายางรถทั้ง 4 ล้อ เป็นชนิดและรุ่นเดียวกันหรือไม่ และลักษณะความสมมาตรกันของยางแต่ละเส้น ความสึกกร่อน เท่ากันหรือไม่ ซึ่งหากไม่เท่ากันระหว่างล้อซ้ายและขวา ก็อาจเป็นเพราะจุดศูนย์ถ่วงผิดปกติ ที่สามารถตั้งศูนย์ใหม่ได้ หรืออีกกรณีให้ระวังว่าอาจเป็นรถที่เกิดอุบัติเหตุจนเสียศูนย์อย่างถาวรก็ได้

 

13. ตรวจสอบยางอะไหล่และเครื่องมือประจำรถ : ตรวจสอบดูยางอะไหล่ และเครื่องมือประจำรถ ว่ามีครบถ้วน และมีสภาพเรียบร้อย พร้อมใช้งานหรือไม่  

 

14. ตรวจสอบระบบท่อไอเสีย : ตรวจดูระบบท่อไอเสียจากใต้ท้องรถ สังเกตดูรอยดำ รอยสนิม รอยแตก ที่ผิดปกติต่าง ๆ หรือรอยของเหลวที่รั่วซึมออกมาตามรอยรั่วของระบบท่อไอเสียว่ามีหรือไม่ 

 

15. ตรวจสอบควันไอเสีย : ลักษณะของควันจากท่อไอเสีย สามารถบอกว่าเครื่องยนต์อยู่ในสภาพปกติดีหรือไม่ หากมีควันเพียงเล็กน้อยถือว่าปกติ แต่หากมีควันดำ ๆ ฟุ้งเป็นจำนวนมาก พร้อมกับกลิ่นเหม็น หมายความว่าเครื่องยนต์กำลังเผาไหม้น้ำมันเครื่อง และแสดงความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ภายในเครื่องยนต์

 

16. ตรวจสอบแหวนลูกสูบ : เปิดฝาน้ำมันเครื่องตรวจดูสภาพ คราบ และรอยสนิมต่าง ๆ เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของแหวนลูกสูบ รวมถึงการสังเกตดูสีของของเหลวภายในว่ามีสีผิดปกติที่เกิดจากเครื่อง Over heat ที่ทำให้ฝาสูบโก่ง ซึ่งทำให้มีของเหลวอื่น ๆ ปะปนไปในน้ำมันเครื่องหรือไม่ 

 

17. ตรวจสอบฟังก์ชันและอุปกรณ์พื้นฐาน : ลองใช้งานทุกส่วน เพื่อตรวจสอบระบบให้ครบ  ตั้งแต่ระบบไฟ กระจกหน้าต่าง และระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และอาจตรวจสอบระบบ ABS หรือ Airbag เบื้องต้น โดยเปิดสวิตช์ในตำแหน่ง ACC ON ซึ่งจะปรากฏไฟขึ้นและดับลงเมื่อสตาร์ทรถ ถ้าไฟยังติดอยู่แสดงว่าอาจมีปัญหา แต่หากไม่ติดตั้งแต่แรก แสดงว่าอาจถูกตัดการแจ้งเตือนไป เพื่อปกปิดความบกพร่องก็ได้

 

18. ตรวจสอบระบบทำความเย็น : การตรวจสอบระบบทำความเย็นว่าสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่ ให้ปรับความเย็นและแรงลมว่าทำงานได้ดีในทุกระดับหรือไม่ และน้ำยาแอร์ จะต้องเป็นชนิด R134 

 

 

 

 

 

 

 

19. ตรวจสอบระบบเบรก : การทดสอบนี้สำคัญต่อความปลอดภัยในการขับขี่มาก ตรวจสอบได้ โดยการทดลองเบรกแบบกะทันหัน เพื่อทดสอบระบบเบรก  และ ABS ว่าสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่ ทั้งนี้ควรระมัดระวังความปลอดภัยระหว่างการทดสอบด้วย โดยควรทดสอบด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. บนถนนส่วนบุคคล หรือที่โล่ง และระหว่างเบรก ให้สังเกตเสียงเบรกว่าผิดปกติหรือไม่ หรือผ้าเบรกใกล้หมดหรือไม่ รวมไปถึงจานเบรกว่ามีพื้นผิวสัมผัสที่ปกติหรือไม่

 

20. ตรวจสอบคู่มือประจำรถ : ผู้ขายรถควรมีเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการเข้าศูนย์บริการ ไว้ให้ผู้ซื้อ เพราะจะเป็นหลักฐานความสมบูรณ์ของรถได้ ว่ารถคันนั้นได้รับการดูแลมาอย่างไร หรือมีปัญหาอย่างไรมาบ้าง ที่จะต้องซ่อมแซมเปลี่ยนอะไหล่ และผู้ซื้อจะได้วางแผนในการเข้าซ่อมบำรุงต่อได้อีกด้วย

 

21. สตาร์ทรถ : เพื่อตรวจสอบระบบการทำงาน โดยควรสตาร์ทรถตอนที่เครื่องเย็น เพื่อสังเกตดูว่าติดง่ายหรือยาก หากติดยาก แสดงว่ารถอาจจะมีปัญหาในส่วนของแบตเตอรี่หรือไดสตาร์ท ซึ่งโดยปกติแล้วเครื่องควรทำงานได้เรียบ นิ่ง ไม่สะดุด ไม่มีเสียง หรือกลิ่นที่ผิดปกติ

 

22. ทดลองขับ : การทดลองขับรถเป็นขั้นตอนการตรวจสอบที่สำคัญก่อนการตัดสินใจซื้อ เพราะนอกจากจะทำให้เราได้สัมผัสกับตัวรถอย่างแท้จริงแล้ว ยังทำให้เราสามารถทดสอบระบบต่าง ๆ ภายในรถ และได้สังเกตความสมบูรณ์ในการขับรถ หรือ ความผิดปกติใด ๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของเครื่องยนต์ ระบบเกียร์ ระบบกันสะเทือน ระบบบังคับเลี้ยว ไม่ควรมีเสียง หรือการทำงานที่ผิดปกติ โดยควรทดลองขับตั้งแต่ความเร็วต่ำ และค่อย ๆ เพิ่มความเร็ว และขับผ่านทั้งถนนที่เรียบและที่ขรุขระหรือทางชันเพื่อสังเกตอาการต่างๆ ของรถ ทั้งนี้ คุณควรขอทดลองขับรถมือหนึ่ง ในรุ่นเดียวกันนี้ เพื่อจะได้ทราบว่าที่คุณต้องการในสภาพที่สมบูรณ์นั้นมีลักษณะอย่างไร เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับตอนที่คุณทดลองขับรถมือสอง

 

23. ตรวจสอบเอกสาร : เมื่อคุณได้ตรวจสอบรถที่ถูกใจ และตัดสินใจที่จะซื้อรถคันนั้นแล้ว ก็ควรตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องดังนี้

- เล่มทะเบียนรถยนต์ : มีเล่มทะเบียนที่ถูกต้อง แสดงรายละเอียดตรงกับรถที่จะซื้อ เช่น ชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ เคยเปลี่ยนเครื่องยนต์หรือเปลี่ยนสีมาก่อนหรือไม่ เป็นต้น

- เอกสารการซื้อขายต่าง ๆ : ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ว่ามีครบถ้วนหรือไม่ ทั้งหนังสือสัญญาซื้อขาย สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขาย พร้อมหลักฐานต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ตรวจดูรหัสเครื่องยนต์ เลขทะเบียนรถด้วยว่าตรงกันทุกจุดหรือไม่ และอ่านรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนเซ็นสัญญา

 

24. การต่อรองราคา : เมื่อคุณได้หาข้อมูล พร้อมตรวจสอบรถทุกขั้นตอนดังที่กล่าวมาแล้ว คุณก็สามารถเจรจาต่อรองราคากับผู้ขายได้อย่างสมเหตุสมผล เช่น สามารถชี้จุดที่มีความบกพร่อง หรือความเสื่อมสภาพของรถที่ไม่ใช่จากการใช้งานปกติได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ขายรู้ว่า คุณมีความรู้และรู้จักรถรุ่นที่จะซื้ออย่างแท้จริงว่าควรมีราคาเท่าไหร่  ผู้ขายก็จะรู้สึกว่าเรามีข้อมูลมาอ้างอิง ไม่ใช่ต่อรองไปลอย ๆ  โอกาสในการต่อรองสำเร็จก็จะมากขึ้น

 

 

 

เป็นอย่างไรบ้างคะ กับขั้นตอนเลือกรถยนต์มือสองที่เรานำมาฝาก เชื่อว่า คุณจะได้รถยนต์มือสองที่คุ้มค่า น่าพอใจ มาครอง อย่างไร้ปัญหากวนใจใด ๆ

และแม้ว่าคุณจะได้รถยนต์มือสองที่ดีแล้ว แต่ปัญหาจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดบนท้องถนนก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เราจึงควรหาตัวช่วยเพิ่มความอุ่นใจ อย่าง ประกันภัยรถยนต์ ป.3+ รายเดือน ที่ให้ความคุ้มครองด้วยทุนประกัน 100,000 บาท เบี้ยอยู่ที่ 1,649 บาท/90 วัน ทั้งยังได้รับกรมธรรม์ทันที และบริการเตือนต่ออายุโดยอัตโนมัติ มั่นใจว่าทุกการเดินทาง เจมาร์ท ประกันภัยพร้อมดูแล  และที่สำคัญ อุ่นใจกับบริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนนที่พร้อมให้บริการคุณตลอด 24 ชั่วโมง สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ 02 099 0555 ต่อ 4262 หรือที่ ที่ LINE : @jaymartinsurance ค่ะ

 

By JAYMART Content Team : RIYA