ข่าวสารและบทความ

กินร้อน ช้อนกลาง อาจยังไม่พอ! มาดู 8 ข้อ อย่ามองข้าม เพื่อลดความเสี่ยง ไวรัสโควิด-19

กินร้อน ช้อนกลาง อาจยังไม่พอ! มาดู 8 ข้อ อย่ามองข้าม เพื่อลดความเสี่ยง ไวรัสโควิด-19

          การป้องกันไวรัสโควิด-19 นั้น แม้คุณจะมีหน้ากาก แม้คุณจะกินอาหารปรุงร้อน ใช้ช้อนกลางแล้ว ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ เราลองมาดู ความเสี่ยงไวรัสโควิด-19 ที่คุณอาจไม่รู้ หรือมองข้ามไป ที่ JAYMART ประกันภัย ได้รวบรวมข้อมูลมาฝาก เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนเพื่อการระแวดระวังป้องกันไวรัสโควิด-19 นี้ ได้อย่างถูกต้องรอบคอบยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้ค่ะ

 

 

 

 

 

 

1. เมื่อขึ้นลงรถ : อย่าลืมสวมหน้ากาก เมื่อเดินทางด้วยยานพาหนะ สาธารณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ รถแท็กซี่  ฯลฯ และพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับบุคคลอื่น ๆ และหากต้องสัมผัสกับส่วนใด ๆ ของยานพาหนะแล้ว ก็จะต้องล้างมือทุกครั้ง

 

 

2. เมื่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ : จุดที่คุณอาจนึกไม่ถึงนั้น ก็อาจเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคได้ เช่น ปุ่มลิฟท์ ลูกบิดประตู กระจก หรือบานประตูแบบผลัก แป้นปุ่มกดที่ตู้ ATM ราวบันได ที่พักแขน ราวจับบันไดเลื่อน ซึ่งจริง ๆ แล้ว เมื่อเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องสัมผัส ก็ควรทำอย่างระมัดระวัง มองก่อนสักนิดว่า ไม่มีคราบแปลก ๆ หากมี ก็จะต้องใช้แอลกอฮอล์ฉีด เช็ดหรือทำความสะอาดก่อนจับ และเมื่อสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ควรล้างมือทันทีที่ทำได้ หรือใช้เจลล้างมือทันทีหลังสัมผัสสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

 

 

3. เมื่อเข้าห้องน้ำนอกบ้าน : โดยปกติทั่วไปแล้ว เมื่อเข้าห้องน้ำที่มีชักโครก อาจจะมีน้ำยาสำหรับเช็ดทำความสะอาดฝารองนั่งชักโครกบริการไว้ เพื่อให้เช็ดทำความสะอาด ก่อนที่เราจะนั่งลงไป แต่หากไม่มี เราควรใช้แอลกอฮอล์ที่พกไป ฉีดและเช็ดทำความสะอาดก่อนที่จะนั่ง หรืออาจใช้แผ่นนั่งรองแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งก็ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝารองนั่งชักโครกโดยตรง ทั้งนี้ ก่อนจะวางแผ่นรองนั่งลงไป ก็ควรทำความสะอาดก่อน เพราะแผ่นรองนั่งอาจบางจนของเหลวทะลุขึ้นมาได้ และเมื่อใช้ห้องน้ำแล้ว ก็จะต้องล้างมือให้สะอาด เพราะไม่ว่าจะเป็นจุดที่กดชักโครก หรือ จุดที่เป็นตัวล็อกประตู จุดแขวนของ หรือแม้แต่การผลักประตูห้องน้ำออกมา ก็เป็นจุดที่ผ่านการสัมผัสของทุกคนที่เข้าใช้บริการ และเสี่ยงต่อการสะสมแบคทีเรียหรือไวรัส

 

 

4. เมื่อรับประทานบุฟเฟต์ : ร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ ประเภทที่เดินตักอาหารเอง ก็มีโอกาสเสี่ยงได้มาก เนื่องจากอาหารถูกวางไว้ และให้ลูกค้าทั้งหมดเดินมาตักเอง หากลูกค้าติดเชื้อมาและมีการไอจามลงใส่อาหารก็เป็นความเสี่ยงที่สูงมาก ตลอดจน ช้อนส้อม ที่ถูกวางไว้ให้หยิบเองได้นั้นก็เช่นกัน มีโอกาสที่จะไม่ปลอดภัยได้ ดังนั้นหากต้องการเลือกรับประทานบุฟเฟต์ในช่วงนี้ ควรเป็นแบบ สั่งมารับประทานที่โต๊ะ และปรุงสุกใหม่

 

 

5. เมื่อไปร้านอาหารทั่วไป : ในช่วงนี้ เราควรเลือกรับประทานอาหารจากร้านอาหารที่สะอาดและไว้วางใจได้ ลองสังเกต ร้านไหน ดูไม่สะอาด เช่น ใช้มือเปล่าหยิบอาหาร หรือวัตถุดิบใด ๆ ให้กับเรา ก็ควรหันไปใช้บริการร้านที่ให้ความมั่นใจกับเราได้มากกว่า และควรเลือกร้านที่ปรุงสุกใหม่ และหากไปรับประทานอาหารที่ศูนย์อาหาร หากทำได้ควรมีช้อนส้อมไปเอง อาจจะยุ่งยากสักหน่อย แต่ก็เพื่อความปลอดภัยของเราเอง

 

 

 

 

 

6. เมื่อต้องใช้จ่าย : ถ้าเป็นไปได้ ในช่วงเวลานี้ หากเราสามารถชำระเงินโดยการจ่ายเงินออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่น หรือผ่านบัตรเครดิตแทน ก็จะสามารถช่วยลดการสัมผัสบัตรและเหรียญที่ผ่านการสัมผัสจากหลาย ๆ คนมาแล้ว และอาจมีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียติดอยู่เป็นเวลาหลายวันได้ อย่างไรก็ตาม        ในชีวิตประจำวัน เราก็คงเลี่ยงการสัมผัสกับธนบัตรและเหรียญไม่ได้ทั้งหมด แต่เมื่อสัมผัสแล้ว ก็ให้ทำความสะอาดมือด้วยเจลล้างมือ หรือล้างมือให้สะอาด

 

 

7. เมื่อกลับมาบ้าน : เมื่อออกไปนอกบ้านทั้งวัน และกลับถึงบ้าน สิ่งที่ควรทำคืออาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกาย โดยเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ และนำเสื้อผ้าที่ใส่นอกบ้านไปซักทันที ไม่ควรนำมาใส่ซ้ำก่อนซัก ควรระวัง ไม่นั่ง หรือ นอนบนเตียง หรือแม้แต่เก้าอี้ หรือ โซฟาผ้าต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังสวมเสื้อผ้าที่ใส่จากนอกบ้าน และนอกจากนี้ กระเป๋า หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่พกติดตัว และผ่านการสัมผัสจากคนอื่น หรือผ่านการวางนอกบ้าน เช่น แทปเล็ต มือถือ ก็ควรนำมาเช็ดทำความสะอาดก่อนวางในจุดใด ๆ ของบ้าน เช่นกัน

 

 

8. สุขภาพในชีวิตประจำวัน : นอกจากนี้ ควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ  หากมีโรคประจำตัวให้ดูแลรักษาตามปกติ และหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียด จะเริ่มส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงขึ้น (นันทิดา ทวิชาชาติ, 2540)  (ข้อมูลอ้างอิง ผศ.อุไรวรรณ ขมวัฒนา คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563)

 

 

แม้ว่าเราไม่ควรตื่นตระหนกกับ ไวรัสโควิด-19 จนเกินไป แต่ก็ยังจำเป็นต้องระมัดระวังให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้นะคะ

 

 

โรคภัย หากระมัดระวังเตรียมพร้อม หมั่นดูแลสุขภาพ ก็ยังสามารถป้องกันได้ แต่ก็ยังมีด้านอื่นในชีวิต ที่แม้เราจะรอบคอบ เตรียมความพร้อม ก็อาจเกิดเหตุไม่คาดคิดได้ แต่เราสามารถช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับทุกด้านของชีวิตเพิ่มเติมได้ ด้วยประกันภัยประเภทต่าง ๆ ของ เจมาร์ท ประกันภัย สนใจติดต่อสอบถามปรึกษาประกันภัยที่เหมาะสมกับคุณได้ที่ Line : @jaymartinsurance

 

 

By JAYMART Staff : RIYA