ข่าวสารและบทความ

ข้อมูลสำคัญ ไวรัสโคโรนา หรือ ไวรัสโควิด-19 ที่คุณต้องรู้ !

ข้อมูลสำคัญ ไวรัสโคโรนา หรือ ไวรัสโควิด-19 ที่คุณต้องรู้ !

ในช่วงนี้ มีข่าวสาร และ ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับไวรัสโคโรนา หรือ ไวรัสโควิด-19 ออกมามากมาย รวมถึงข่าวเฟคที่บางครั้งก็อาจทำให้เราตื่นตระหนกจนเกินไป JAYMART ประกันภัย จึงขอรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาให้ผู้อ่านได้เข้าใจ คลายสงสัย คลายกังวล และสามารถปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันไวรัสโคโรนา ได้อย่างถูกต้อง ดังต่อไปนี้ค่ะ

ไวรัสโคโรนาคืออะไร
•    โคโรนาไวรัส เป็นไวรัสขนาดใหญ่ ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน คล้ายมงกุฎ จึงเรียกว่าโคโรนาไวรัส  โดยโคโรนาไวรัส ที่เกิดโรคในคน แต่เดิมมี 6 ชนิด สำหรับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ ไวรัสโควิด-19 หรือ โรคปอดบวมอู่ฮั่น ซึ่งเกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ตั้งแต่กลางเดือน ธันวาคม 2019 และระบาดต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้นั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 2019-nCoV นับเป็นสายพันธุ์ที่ 7 ที่เกิดในคน   

ข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาล่าสุด (22 กุมภาพันธ์ 2020)
•    ข้อมูลล่าสุดของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไวรัสโควิด-19 ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2020 นั้น มียอดผู้ติดเชื้อ 

 

 

ประเทศ

ผู้ติดเชื้อ

ผู้เสียชีวิต

รักษาหายแล้ว

จีน

76,291 คน

2,345 คน

21,025 คน

ฮ่องกง

69 คน

2 คน

10 คน

ไทย

35 คน

0 คน 

20 คน

ฟิลิปปินส์

3 คน 

1 คน

2 คน

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/867518 

การติดเชื้อ ความเสี่ยง ไวรัสโคโรนา
•    โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ ไวรัสโควิด-19 นั้น เป็นเชื้อใหม่ จึงยังไม่มีใครที่มีภูมิต้านทาน ทำให้มีสิทธิ์ที่จะติดเชื้อได้ทุกคน หากสัมผัสโรค โดยการติดเชื้อทั่วไป จะเกิดจากการสัมผัสระยะใกล้ การอยู่ใกล้ผู้ที่มี อาการไอ จาม แล้วมีฝอยละอองหรือมีน้ำมูกกระเด็นมาโดน ดังนั้นโดยทั่วไป หากเพียงเดินสวนกันหรืออยู่ในสถานที่เดียวกัน และไม่ได้สัมผัสน้ำหรือของเหลวจากร่างกาย ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็จะไม่ทำให้ติดเชื้อ 
  อาการ ไวรัสโคโรนา
•    อาการที่พบบ่อยทั่วไป ในการติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะผู้ที่มาจากแหล่งระบาดของโรค คือ อาการทางระบบหายใจ เช่น มีไข้ น้ำมูก ไอ เจ็บคอ หายใจถี่ หายใจลำบาก ในเคสที่รุนแรง อาจทำให้เกิดปอดอักเสบหรือปอดบวม ไตวาย และทำให้ระบบหายใจล้มเหลว ถึงขั้นเสียชีวิตได้

ความรุนแรงของโรค ไวรัสโคโรนา
•    ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ มีอัตราการเสียชีวิต 3% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด (ข้อมูล ณ 30 ม.ค. 2020) ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตจากโรคซาร์ส 10% และอัตราการเสียชีวิตจากโรคเมอร์ส 30% แล้วนั้น ถือว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าโรคอื่นที่เกิดจากไวรัสตระกูลเดียวกันที่เคยระบาดมาก่อน 
•    ส่วนความรุนแรงของโรคในแต่ละบุคคล ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ กล่าวว่า จะขึ้นอยู่กับอายุ ซึ่งในเด็ก ความรุนแรงของโรคจะน้อยกว่าในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ หรือกล่าวได้ว่าความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นตามอายุนั่นเอง และจากข้อมูลผู้เสียชีวิตที่ผ่านมา จำนวน 18 รายแรก เกือบทั้งหมดอายุเกิน 65 ปี โดยครึ่งหนึ่งอายุเกิน 80 ปี และมีโรคประจำตัว เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง อัมพฤกษ์ โรคสมองเสื่อม เมื่อมีโรคปอดเข้ามาแทรกก็ทำให้เสียชีวิตได้ 
•    และมีข้อน่าสังเกตว่า 18 คนแรกที่เสียชีวิต เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาจเพราะโรคติดเชื้อจะเกิดกับผู้ชายมากกว่า เพราะระบบภูมิต้านทานผู้หญิงดีกว่าผู้ชาย

 

การป้องกันการติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา   
•    สวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ หรือเมื่อเข้าไปในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ และหลังจากถอดหน้ากากอนามัยทิ้ง ให้ล้างมือให้สะอาด
•    ระมัดระวัง เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หากพบ ผู้ที่ไอ จาม ควรอยู่ให้ห่าง อย่างน้อย 2 เมตร
•    ในขณะเดียวกัน เมื่อไอและจาม ให้ใช้ข้อพับ ข้อศอก หรือทิชชู่ปิดปาก เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อใด ๆ ก็ตาม
•    ก่อนทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ควรหยดแอลกอฮอล์ลงไป โดยพับหน้ากากอนามัยด้านที่สัมผัสใบหน้าเข้าข้างใน หรือผู้ที่ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ก่อนทิ้งควรหยดน้ำยาล้างห้องน้ำที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบหยดลงไปในผ้าอ้อมก่อนม้วนทิ้ง เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อ ไม่ให้ขยะพวกนี้ไปแพร่เชื้อใด ๆ ต่อได้
•    หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย หากพูดคุยแล้วผู้ป่วยมีการไอจาม และมีฝอยละอองกระเด็นมาถูกบริเวณใบหน้า ก็จะทำให้ติดโรคได้ หากเลี่ยงไม่ได้ ให้สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ 
•    ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันโรคที่อาจติดต่อทางฝอยละอองได้ โดยควรล้างมือก่อนล้างหน้า และไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ควรล้างมือ เช่น ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ เมื่อเดินทางถึงที่ทำงาน เมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน เป็นต้น
•    หากไม่สะดวกล้างมือ สามารถใช้เจลล้างมือแทนได้ เนื่องจากไวรัสตัวนี้เป็นไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม สามารถทำลายได้ด้วยแอลกอฮอล์ จึงสามารถใช้เจลล้างมือฆ่าเชื้อได้
•    ระมัดระวังที่จะไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะเมื่อออกนอกบ้าน
•    ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ฯลฯ เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
•    หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ ในที่สาธารณะ โดยไม่จำเป็น เช่น ประตู ราวบันได ที่พักแขน เป็นต้น แต่หากจำเป็นต้องสัมผัส ให้ล้างมือหลังจากสัมผัสแล้ว
•    เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนที่จะนั่ง หรือ นอนบนเตียง และไม่ควรใส่เสื้อผ้าซ้ำโดยไม่ซักก่อน 
•    รับประทานอาหารปรุงสุกร้อน หากรับประทานอาหารนอกบ้าน ให้พิจารณาเลือกร้านอาหารที่สะอาด
•    รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ  
•    หากมีโรคประจำตัวให้ดูแลรักษาตามปกติ 
•    ให้คำนึงถึงการช่วยกันป้องกัน และลดการแพร่กระจาย โดยเมื่อมีความเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นอย่างใกล้ชิด และควรแนะนำเพื่อนและญาติมิตรที่มีความเสี่ยง ไม่ควรออกไปพบปะผู้อื่น  

ควรทำอย่างไร เมื่อสงสัยว่าติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา
•    ภายใน 14 วัน หลังเดินทางกลับจากจีน หาก มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีเสมหะ หายใจเหนื่อยหอบ ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทางด้วย ห้ามเดินทางไปทำงานหรืออยู่ที่บ้านโดยเด็ดขาด
•    ห้ามออกกำลังกาย เนื่องจากทำให้เชื้อเข้าไปในปอดได้เร็วและมีจำนวนได้มากกว่าคนที่พักผ่อน ทำให้ผู้ป่วยที่ยังออกกำลังกาย เกิดความเจ็บป่วยได้รุนแรงในเวลาอันสั้น
•    สำหรับสถานศึกษา หากพบนักเรียนที่มีอาการไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ลดยาก ปวดศีรษะและลำตัว มีอาการไอต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน มีน้ำมูก ให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือโทร.แจ้งสายด่วน กรมควบคุมโรค 1422
 

การรักษา เมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนา
•    ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสใช้รักษา หรือ วัคซีนในการป้องกัน จึงเป็นการรักษาตามอาการหรือเงื่อนไขทางเทคนิคของผู้ป่วยรายนั้น ๆ ซึ่งเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ โดยถือว่ามีประสิทธิภาพสูง สามารถรักษาผู้ป่วยหายแล้วจำนวนมาก 
•    หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากเกิดความเครียดหรือวิตกกังวลอย่างมาก สามารถโทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

ข้อมูลอ้างอิง 
•    ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิตและหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาค วิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยาคลินิก (ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2563)
•    ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563)
•    ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (ชุลีพร อร่ามเนตร คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563)
•    รุ่งนภา พิมมะศรี ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563
•    นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.)
•    กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (พี่นุ้ย เกศริน เอกธวัชกุล เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563)
•    ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯอดีตประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย อดีตนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย (แนวหน้า ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563)
•    ข่าวสด (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563  
•    มติชน ฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
•    https://www.sanook.com/travel/1419361/

โรคภัย หากระมัดระวังเตรียมพร้อม หมั่นดูแลสุขภาพ ก็ยังสามารถป้องกันได้ แต่ก็ยังมีด้านอื่นในชีวิต ที่แม้เราจะรอบคอบ เตรียมความพร้อม ก็อาจเกิดเหตุไม่คาดคิดได้ แต่เราสามารถช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับทุกด้านของชีวิตเพิ่มเติมได้ ด้วยประกันภัยประเภทต่าง ๆ ของ เจมาร์ท ประกันภัย สนใจติดต่อสอบถามปรึกษาประกันภัยที่เหมาะสมกับคุณได้ที่ 02 099 0555 ต่อ 4262

By JAYMART Staff : RIYA