ในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 หรือการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ก็ทำให้เราต้องหันมาเอาจริงเอาจริงจังกับการเลือกซื้อและใส่หน้ากากกันให้ถูกต้อง ซึ่งหลายท่านก็คงได้ศึกษาหรือรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับหน้ากากกันมาบ้างแล้ว จากหลาย ๆ สื่อ วันนี้เราจะมาสรุปและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหน้ากากชนิดต่าง ๆ เพื่อจะเลือกหน้ากากกันได้อย่างถูกต้องและตรงกับความต้องการค่ะ
ประเภทของหน้ากากอนามัย
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับหน้ากากอนามัยที่ตอนนี้จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายรูปแบบ ว่ามีประเภทไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งแบ่งออกเป็นหลัก ๆ ได้ 4 ประเภท ดังนี้ค่ะ
1. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เป็นหน้ากากประเภทที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง ใช้สำหรับสวมใส่เมื่อป่วย หรือมีอาการไอและจาม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ผู้อื่น และยังสามารถป้องกันผู้สวมใส่จากเชื่อโรคหวัด หรือเชื้อไวรัสโคโรนาได้อีกด้วย (อ้างอิง : พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ข้อมูลจากบีบีซีไทย) เพราะมีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นและกรองเชื้อโรคบางชนิดได้ดี แต่หน้ากากชนิดนี้สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้เพียง 60 กว่า % เท่านั้น ซึ่งแม้จะมีประสิทธิภาพไม่เท่าหน้ากาก N95 แต่ก็ดีกว่าไม่ใส่หน้ากากเลย คนที่ยังไม่ป่วยก็สามารถสวมใส่หน้ากากป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้ โดยควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ใหม่ทุกวัน ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ
2. หน้ากากอนามัย N95
หน้ากากอนามัย 95 นั้น เป็นหน้ากากที่ได้รับการแนะนำว่ามีประสิทธิภาพป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ดีที่สุด และยังสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาได้อีกด้วย เพราะจะสามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็กมากๆ ตั้งแต่ 2.5 ไมครอน ไปจนถึงพวกฝุ่นควันขนาดใหญ่ และยังป้องกันเชื้อโรคชนิดต่างๆ ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรียได้ดีที่สุดด้วย โดยมีประสิทธิภาพในการกรองมากถึง 95% สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ มีอายุการใช้งานประมาณ 3 สัปดาห์ โดยหน้ากากอนามัย N95 จะมีราคาสูงกว่าหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา ทั้งนี้ควรเลือกซื้อหน้ากากที่ได้รับการรับรองประสิทธิภาพการกรองตามมาตรฐานสากล อาทิ NIOSH (อเมริกา) GB (จีน) EN (ยุโรป) AN/NZS (ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์) เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดีที่สุด
3. หน้ากากอนามัยแบบผ้า
หน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้ามีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แต่การใช้งานจะเน้นใช้สำหรับป้องกันฝุ่นละอองขนาดใหญ่ และป้องกันการกระจายของของเหลวจากร่างกาย เช่น น้ำมูกหรือน้ำลาย แต่ไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ และ ดังนั้นหน้ากากแบบผ้าจึงไม่เหมาะสำหรับการใช้เพื่อป้องกันเชื้อโรคขนาดเล็กอย่าง เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส และไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ โดยข้อดีของหน้ากากแบบผ้าคือ สามารถซักทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ช่วยให้ประหยัดเงิน แต่ไม่ช่วยกรองฝุ่นพิษ
4. หน้ากากป้องกันมลพิษและสารเคมี
ยังมีหน้ากากอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้ใช้กันในชีวิตประจำวันทั่วไป นั่นก็คือ หน้ากากป้องกันมลพิษและสารเคมี ที่สามารถ ป้องกันได้ทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สุดไปจนถึงฝุ่นละอองขนาดใหญ่ที่สุด ทั้งยังสามารถช่วยป้องกันฝุ่นพิษ หรือฝุ่นPM 2.5 ได้ด้วย แต่กลับไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะนำมาสวมใส่เพื่อป้องกันโรคติดต่อ นอกจากนี้ หน้ากากประเภทนี้ยังมีราคาสูงมาก จึงไม่ได้มีการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่เหมาะกับการใช้ในโรงงานสารเคมีต่าง ๆ
เทคนิคการเลือกหน้ากากอนามัยให้เหมาะกับผู้สวมใส่
เมื่อเราได้ทราบข้อมูลของหน้ากากอนามัยแบบต่าง ๆ แล้ว เราก็สามารถเลือกหน้ากากให้ตรงกับการใช้งานของเราได้ และอาจใช้สิ่งเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจได้ค่ะ
- ความเสี่ยง : การเดินทางของเรา หรือสถานที่ ที่เราเดินทางไปนั้น ต้องเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 มากแค่ไหน และเสี่ยงกับการติดเชื้อโรคต่าง ๆ มากแค่ไหน เราก็สามารถเลือกระหว่าง หน้ากาก PM 2.5 และ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ได้ หรือหากทำงานอยู่เพียงแค่สถานที่เดียว เช่น แค่ในครัว ก็สามารถใช้หน้ากากผ้าได้
- ระยะเวลาการใช้งาน : กรณีที่ต้องสวมหน้ากากต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในสถานที่ใดที่หนึ่ง อาจใช้แค่หน้ากากอนามัยแบบธรรมดา ซึ่งสามารถป้องกันผู้สวมใส่จากเชื้อไวรัสโคโรนาได้ดี และใส่สบายกว่าหน้ากากแบบ N95 ที่ทอด้วยเส้นใยที่แน่นมาก แต่หากต้องออกไปกลางแจ้งเผชิญกับฝุ่นมาก ๆ ก็ควรใช้ หน้ากาก N95 โดยเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเองหรือที่เราชอบมากกว่าได้ค่ะ
- รูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง : หน้ากากแบบธรรมดา ก็จะมีรูปแบบคล้ายกัน ก็คือ หน้ากากรูปร่างปกติ มีสายเกี่ยวหู ในส่วนของหน้ากากแบบผ้า ก็จะพบว่ามีความหลากหลายของลวดลายและสีสัน ซึ่งไม่ได้ให้สัมผัสที่แตกต่างกันเท่าใดนักเมื่อสวมใส่ แต่ในขณะที่ หน้ากาก N95 นั้น จะมีรูปแบบให้เลือกใช้ได้ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบหลักๆ พร้อมข้อดี ข้อเสีย ดังนี้
1. Cup Shape ค่อนข้างแข็งแรง กระชับ แนบสนิทกับใบหน้า เวลาหายในหน้ากากไม่ยุบเข้าออก มีข้อเสียคือพับเก็บไม่ได้ และใส่แล้วอาจอึดอัด ดังนั้นควรใส่เฉพาะเวลาจำเป็น คืออยู่กลางแจ้งต้องเผชิญฝุ่นเยอะ ๆ เท่านั้น
2. V-Flex เป็นหน้ากากที่ไม่ได้มีรูปร่างคงตัว ปกปิดมิดชิด สามารถโค้งรับไปกับใบหน้าได้ สวมใส่สบาย สามารถพับเก็บได้ พกพาสะดวก แต่เวลาหายใจเข้าออก หน้ากากจะสัมผัสกับใบหน้าค่อนข้างบ่อย ทำให้รู้สึกรำคาญได้
3. Flat Fold 2 Panel ลักษณะคล้ายกับ Cup Shape แต่จะเป็นแบบกึ่งคงรูป เนื้อสัมผัสจะเบา ยืดหยุ่น สวมใส่สบายกว่า สามารถพับเก็บได้ แต่เวลาหายใจเข้าออก อาจรู้สึกว่าหน้ากากสัมผัสกับใบหน้าเล็กน้อย
4. Flat Fold 3 Panel ด้านบนเป็นวัสดุที่ทำจากผ้า โค้งรับกับรูปหน้า ตรงกลางจะแบน เป็นโครงแข็ง ด้านล่าง ทำจากผ้าคลุมไปถึงใต้คาง ช่วยในการปกปิดไม่ให้อากาศเข้า สวมใส่สบาย เวลาหายใจจะไม่ยุบเข้า-ออก ไปสัมผัสกับใบหน้า แต่ส่วนใหญ่มักมีแต่สายรัดด้านหลัง อาจทำให้บางคนสวมใส่ลำบาก
เมื่อเรารู้จักรูปแบบ และการใช้งานของหน้ากากอนามัยในแบบต่าง ๆ แล้ว การเลือกใช้งานก็ไม่ยากอีกต่อไปใช่มั้ยคะ แต่ยังมีข้อที่พึงรำลึกไว้ก่อนเลือกซื้อเสมอก็คือ เราจะต้องซื้อหน้ากากที่ได้รับการรับรองมาตรฐานตามที่ได้กล่าวไปแล้ว และ ควรซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตามร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือร้านขายยา นั่นเองค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง www.bbc.com/thai, www.bangkokbiznews.com, www.honestdocs.co, www.salika.co, medthai.com, th.jobsdb.com
By JAYMART Staff : RIYA