การสื่อสารภายในครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพราะทุกคำพูดทุกถ้อยคำของคุณพ่อคุณแม่จะส่งผลต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็ก ๆ แต่บางครั้งพ่อคุณแม่อาจไม่ทันระวังหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าคำพูดจากความรัก ความเอ็นดู หรือความคาดหวัง อาจเกิดผลกระทบด้านลบต่อจิตใจของเด็ก ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้น เจมาร์ท ประกันภัย แนะนำเทคนิคเลี้ยงลูก กับคำพูดต้องห้าม รักลูกอย่าพูดแบบนี้ เพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพ
พูดล้อเลียน
ตัวอย่างการพูด : เรียกเด็กอ้วนว่า “หมูอ้วน” หรือเรียกเด็กที่มีผิวคล้ำว่า “น้องถ่าน” หรือ “น้องดำ”
ผลที่เกิดขึ้น : คำพูดที่ล้อเล่นด้วยความเอ็นดูเหล่านี้ บางทีเกิดผลทางลบมากกว่าที่คิด เป็นการทำลายความมั่นใจของเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ชอบในสิ่งที่ตัวเองเป็น จนอาจกลายเป็นปมด้อยได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เด็กกลายเป็นคนโกรธหรือโมโหง่าย เพราะถูกล้อเลียนยั่วยุบ่อย ๆ และยิ่งไปกว่านั้น เด็กอาจเลียนแบบพฤติกรรมนี้และติดนิสัยกลายเป็นคนชอบล้อเลียนคนอื่นอีกด้วย
คำแนะนำ: คิดก่อนพูดล้อเล่น และพยายามพูดในทิศทางที่ทำให้เด็กรู้สึกดีต่อตัวเอง ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น สอนให้เด็กเข้าใจถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล และไม่ยึดติดต่อรูปลักษณ์ภายนอก จะทำให้เด็กให้เกียรติตนเองและผู้อื่น
พูดประชดประชัน
ตัวอย่างการพูด : “ดีเนอะ วัน ๆ ไม่ทำอะไรเลย” “ไม่ต้องขยันหรอก ยังไงก็ไม่เก่งอยู่แล้ว”
ผลที่เกิดขึ้น : คำพูดประชดประชันจะทำให้เด็กตีความหมายผิด โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำว่า 8 ปี ที่ยังไม่เข้าใจความหมายของการประชดจะตีความตรง ๆ ไปตามคำพูด ทำให้เข้าใจผิดหรือสับสน ส่วนเด็กที่โตพอเข้าใจก็จะรู้สึกไม่ดีกับการประชดเช่นกัน เด็กจะรู้สึกหงุดหงิด เสียใจ สับสน และยังส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อตนเองได้
คำแนะนำ : ให้พูดคุยหรือสอนไปตามปกติ ไม่ควรพูดจาประชดประชัน ไม่ว่ากรณีใด ๆ
พูดเปรียบเทียบ
ตัวอย่างการพูด : “ไม่น่ารักเหมือนน้องจอยเลย” “ดูอ๊อดซิ อ๊อดยังทำได้เลย”
ผลที่เกิดขึ้น : แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องการพูดเพื่อเป็นแรงผลักดันให้ลูกมีความพยายามทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น แต่คำพูดเหล่านี้อาจเป็นการทำร้ายจิตใจ ให้เด็กรู้สึกด้อยค่า รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มีความสามารถเท่าคนอื่น หรือพ่อแม่ไม่รักเท่าเดิม ซึ่งอาจทำให้เด็กขาดความมั่นใจ ไม่กล้าแสดงออก ขี้อิจฉา และอาจส่งผลให้เด็กแสดงออกด้วยความก้าวร้าว หรือการต่อต้าน
คำแนะนำ : สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กแทนการเปรียบเทียบ โดยสามารถกล่าวถึงคนที่ประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่าง ๆ ได้ และบอกว่าลูกก็มีความสามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นการให้กำลังใจและส่งเสริมเขาในการทำสิ่งต่าง ๆ ส่งผลให้เด็ก ๆ เกิดความมั่นใจ รู้คุณค่าของตนเองและผู้อื่น
พูดขู่
ตัวอย่างการพูด : “ไม่กินข้าว เดี๋ยวไม่รักนะ” “ซนมาก เดี๋ยวผีมาหลอกนะ”
ผลที่เกิดขึ้น : การขู่จะทำให้เด็กเกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะถูกตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่ได้รับความรัก หรือมีเหตุการณ์ร้ายที่ไม่สมเหตุผลจะเกิดขึ้น จะทำให้เด็กเกิดความกังวล ระแวง ขี้กลัว และส่งผลให้เด็กกลายเป็นคนขาดทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล เมื่อเกิดปัญหาใดในชีวิตก็จะคิดหาทางออกได้ยาก นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้สูญเสียความนับถือตนเองและผู้อื่นได้
คำแนะนำ : สอนเด็กด้วยเหตุผลไม่ใช้วิธีขู่ เมื่อต้องการให้เขาทำสิ่งใดก็บอกถึงผลดีผลเสียอย่างแท้จริง เช่น “ทานข้าวนะลูก จะได้แข็งแรง”
พูดห้าม
ตัวอย่างการพูด : “อย่าทำแบบนั้นนะ” “อย่าทำแบบนี้นะ” “ห้ามเลยนะ”
ผลที่เกิดขึ้น : เด็กขาดความมั่นใจ ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ เสียโอกาสในการค้นหาตนเองว่าชอบหรือถนัดด้านไหน นอกจากนี้การห้ามยังอาจส่งผลให้เด็กรู้สึกต่อต้านอีกด้วย
คำแนะนำ : เปลี่ยนเป็นคำพูดแนะนำแทนการห้าม เช่น แทนที่จะพูดว่า “อย่าเปิดประตูทิ้งไว้” ให้พูดว่า “ปิดประตูด้วยนะจ๊ะ ยุงจะได้ไม่มากัดหนู” หรือ แทนที่จะพูดว่า “อย่าเดินเสียงดัง” ก็ให้พูดว่า “เดินเบา ๆ นะคะลูก คุณยายจะได้ไม่ตกใจตื่น” ทั้งนี้หากอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องห้าม ก็อาจห้ามหรือบอกให้ระวังได้แต่ควรมีการอธิบายให้เด็กเข้าใจถึงสาเหตุด้วย
พูดกดดัน เชิงบังคับ
ตัวอย่างการพูด : “เทอมนี้ต้องสอบได้ดีกว่าเดิมนะ” “แค่นี้เองต้องทำให้ได้สิ”
ผลที่เกิดขึ้น : เด็กจะรู้สึกเครียดและกดดันตัวเอง รู้สึกไม่มีคุณค่า ไม่กล้าแสดงออก มองโลกแง่ร้าย ไม่ไว้ใจคนอื่น หรือมุ่งแต่ความสำเร็จ ไม่ใส่ใจคนรอบข้าง นอกจากนี้เด็กอาจแสดงการต่อต้าน ก้าวร้าว รุนแรง ต่อคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย
การแก้ไข : เปลี่ยนจากพูดเชิงบังคับมาเป็นให้กำลังใจ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรักและความห่วงใย ทำให้เด็กรับรู้ถึงความหวังดีจากพ่อแม่ ส่งผลให้เด็กเกิดกำลังใจในการก้าวไปสู่เป้าหมายต่าง ๆ และยังทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีอีกด้วย
พูดบั่นทอนกำลังใจ
ตัวอย่างการพูด : “จะทำได้เหรอ” “แน่ใจเหรอ ว่าจะทำได้”
ผลที่เกิดขึ้น : คุณพ่อคุณแม่อาจถามย้ำเพื่อความมั่นใจ แต่จริง ๆ แล้ว คำพูดแบบนี้อาจบั่นทอนกำลังใจของเด็ก ๆ ลดความมั่นใจ ทำให้เขาสงสัยในตัวเอง ว่ามีความสามารถจริงไหม ส่งผลให้เขาขาดความมั่นใจและคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่าหรือความสามารถ
คำแนะนำ : เปลี่ยนจากการถามเป็นการพูดด้วยน้ำเสียงให้กำลังใจ เช่น “แม่เป็นกำลังใจให้หนูอยู่นะลูก”
พูดด้วยอารมณ์
ตัวอย่างการพูด : ทุกคำพูดที่พูดด้วยอารมณ์แง่ลบ มีน้ำเสียงที่โมโห หงุดหงิด รุนแรง
ผลที่เกิดขึ้น : เด็กจะจดจำและเลียนแบบวิธีการพูดและคำพูด โดยคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะเด็ก ๆ จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะครอบครัวและคนใกล้ชิด ซึ่งจะส่งผลให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว เข้ากับคนอื่นไม่ได้ นอกจากนี้เด็กอาจรู้สึกไม่ดี และรู้สึกต่อต้านได้อีกด้วย
คำแนะนำ : พูดเมื่ออยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ปกติเท่านั้น หากคุณพ่อคุณแม่อารมณ์ไม่ดี ให้พยายามทำจิตใจให้สงบและตั้งสติก่อน แล้วจึงค่อยพูดคุย สอน หรืออธิบายเหตุผลให้เด็ก ๆ เข้าใจ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน นอกจากนี้ควรรับฟังเหตุผลของเด็ก ๆ ด้วย
พูดเข้าข้าง
ตัวอย่างการพูด : “ลูกฉันไม่มีทางทำผิดหรอก” “ลูกแม่ หนูไม่ผิดหรอก”
ผลที่เกิดขึ้น : จะทำให้เด็กไม่รู้จักแยกแยะความถูกต้องและความผิด และมีความอดทนต่ำต่อคำวิจารณ์
คำแนะนำ : หากพบว่าเด็กทำผิด ควรสอนเด็กให้ยอมรับความจริง ไม่ออกรับแทนลูก แต่สอนให้เด็กรู้จักยอมรับผิด และรู้จักขอโทษ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กเข้าใจว่าอะไรถูกอะไรผิดและสามารถปรับปรุงตัวเองได้
นอกจากนี้ยังมีการพูดของคุณพ่อคุณแม่หรือคนใกล้ชิดอีกหลายแบบ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ส่งผลเสียต่อเด็ก แต่ข้อคิดง่าย ๆ ที่เราสามารถยึดมาเป็นหลักในการพูดกับเด็กก็คือ เด็กจะมีพฤติกรรมการเรียนรู้และเลียนแบบ ดังนั้น อยากให้เขาเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างให้กับเขานั่นเองค่ะ
ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะปกป้องดูแลลูกน้อยด้วยความรักอย่างรอบด้านแล้ว แต่บางครั้งอุบัติเหตุ หรือ การเจ็บป่วย ก็เป็นสิ่งไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นอย่าลืมเพิ่มความคุ้มครองด้วยแผนประกันสำหรับเด็ก จากเจมาร์ท ประกันภัย
สนใจประกันภัยอื่น ๆ เช่น ประกันรถยนต์ ประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยบ้าน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เจมาร์ท ประกันภัย โทร. 02 099 0555 ต่อ 4262 หรือที่ LINE : @jaymartinsuranceค่ะ
By Jaymart Content Team : RIYA