12 สิ่งที่ต้องเช็ค ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม
12 สิ่งต้องเช็ค ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม
หน้าฝนนี้ ฝนตกน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ โดยสำหรับบ้านที่ถูกน้ำท่วม เจ้าของบ้านต่างเหนื่อยกายเหนื่อยใจไปตาม ๆ กัน และเมื่อน้ำลดแล้ว ก็ยังต้องเตรียมรับมือกับความเสียหาย ดูแลซ่อมแซมบ้านกันให้กลับมาสภาพดีที่สุด เสียหายน้อยที่สุด พร้อมเตรียมป้องกันปัญหาหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
หลายท่านเห็นสภาพบ้านแล้ว ก็รู้สึกอ่อนใจขึ้นมาทันที และไม่รู้ว่าควรเริ่มที่ไหน เจมาร์ทอินชัวร์ รวบรวมสิ่งที่ต้องเช็ค ต้องดูแลหลังน้ำท่วมบ้านมาฝากกันค่ะ
- ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม 1 : เช็คสิ่งแปลกปลอม
เมื่อน้ำลดแล้ว ควรเช็คดูให้ทั่วบ้าน มองหาจุดที่เสียหายต่าง ๆ เพื่อเตรียมการซ่อมแซม พร้อมกับระมัดระวังพวกซากข้าวของพัง หรือของที่สร้างอันตรายได้ เช่น เศษไม้ ตะปู เศษแก้วคม ที่อาจลอยมากับน้ำ พวกนี้ก็ต้องกำจัด หรือหาที่วางรวมไว้เตรียมทิ้ง อย่าให้รกเกะกะ เพราะเมื่อมาเคลียร์บ้าน ซ่อมแซมบ้าน จะได้ไม่เกิดอันตรายต่อใครได้ รวมถึงอีกสิ่งที่สำคัญก็คือ อาจมีพวกสัตว์ต่าง ๆ เข้ามาหลบภายในบ้าน หากเป็นสัตว์อันตราย ต้องโทรเรียกเจ้าหน้าที่ หรือผู้เชี่ยวชาญมาจัดการทันที
ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม 2 : เช็คระบบไฟ
- ตั้งแต่เมื่อน้ำท่วมสูงขึ้น ให้สับคัตเอาต์ เพื่อตัดระบบไฟฟ้าในบ้านไว้ก่อน ไม่ให้เสี่ยงกับการถูกไฟดูด พร้อมทั้งถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออก นำขึ้นที่สูงไว้
- เมื่อน้ำลด ควรรอให้น้ำแห้งประมาณ 1-3 วันก่อน จึงทดลองเปิดวงจรไฟฟ้าขึ้นอีกครั้ง หากเปิดแล้วไฟฟ้าทำงานได้ปกติ แสดงว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่หากมีการตัดการจ่ายไฟ ก็แสดงว่ามีไฟฟ้าลัดวงจร ไฟดูด ไฟรั่ว ไฟตก ไฟเกิน จำเป็นจะต้องเรียกช่างไฟฟ้าโดยตรงมาตรวจเช็คเพิ่มเติมและซ่อมแซมให้นะคะ
- และหากบ้านของคุณอยู่ในจุดที่เสี่ยงจะมีน้ำท่วมเข้าบ้าน ก็ควรให้ช่างแยกวงจรไฟฟ้าสำหรับชั้นล่างที่น้ำอาจท่วมถึง กับวงจรไฟฟ้าสำหรับชั้นบน เพื่อจะได้ควบคุมได้ง่าย และสะดวกต่อการดูแล พร้อมทั้งให้ช่างปรับตำแหน่งของสวิตช์ไฟและปลั๊กไฟทุกจุดในชั้นล่างให้สูงจากพื้นพอที่น้ำจะท่วมไม่ถึง เผื่อไว้สำหรับอนาคตด้วยค่ะ
ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม 3 : เช็คระบบน้ำ
- ปั๊มน้ำ : หากโดนน้ำท่วมแล้ว โดยทั่วไปมอเตอร์จะเกิดความชื้นและเกิดความเสียหายอย่างแน่นอน ซี่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงควรเรียกช่างหรือผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบและซ่อมแซมให้ ห้ามนำปั๊มน้ำมาผึ่งแดดเอง เพราะมอเตอร์อาจไหม้ได้
- แท้งค์น้ำ : สำหรับแทงค์น้ำบนดิน หากผลิตจากสเตนเลส ให้เช็คดูสนิมและอุดรอยรั่ว หากทำได้ควรเปลี่ยนจากแท้งค์น้ำสเตนเลสเป็นแท้งค์น้ำแบบไฟเบอร์กลาส แต่หากเป็นแท้งค์น้ำใต้ดิน ให้เช็คดูฝาของแท้งค์น้ำ หากชำรุด น้ำสกปรกจากน้ำท่วมก็จะไหลเข้าไปภายในแท้งค์น้ำ ให้ล้างทำความสะอาดแท้งค์น้ำให้สะอาด และเมื่อน้ำลดควรเปลี่ยนมาใช้แท้งค์น้ำบนดินแทน
ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม 4 : เช็คฝ้าเพดาน
น้ำท่วมถึงฝ้าเพดาน ต้องทำอย่างไร
- ฝ้าเพดานยิปซัมบอร์ดหรือกระดาษอัด : ถ้าฝ้าชำรุดเปื่อยยุ่ยมาก ควรรื้อออกแล้วเปลี่ยนแผ่นใหม่
- ฝ้าโลหะ : เช็ดทำความสะอาดฝ้าให้แห้ง กรณีถ้าเป็นสนิม ให้ใช้กระดาษทรายขัดออกให้หมด แล้วจึงทาสีทับลงไป
- ฝ้าแผ่นปูนพลาสเตอร์ : เมื่อโดนน้ำจะเสียหายอย่างแน่นอน โดยจะพอง บวม และร่วงลงมา ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ จึงควรรื้อออกแล้วเปลี่ยนใหม่
- ถ้าโครงฝ้าเพดานเกิดการแอ่นหรือทรุดตัว จะต้องแก้ไขให้ได้ระดับและมีความแข็งแรงก่อนการติดตั้งแผ่นฝ้าอันใหม่
- ระบบสายไฟส่วนใหญ่จะเดินอยู่ในฝ้า ควรให้ช่างไฟมาตรวจสอบดูความเรียบร้อยว่ามีส่วนใดชำรุดด้วยหรือไม่เช่นกัน
ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม 5 : เช็คผนัง
- วอลเปเปอร์ : เมื่อน้ำลด ให้ลองใช้ผ้าเช็ดวอลเปเปอร์ดู หากพบว่าน้ำซึมเข้าไปในวอลเปเปอร์จนชำรุด หรือเป็นคราบฝังแน่น ไม่สามารถเช็ดออกได้ ให้ลอกวอลเปเปอร์เก่าออกก่อน รอให้ผนังปูนคายความชื้นและแห้งสนิท แล้วจึงจ้างช่างมาติดใหม่
- ผนังไม้ : ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาด หากยังมีความชื้น ให้รื้อฝาไม้ส่วนล่างของผนังออก เพื่อระบายความชื้น แล้วรอจนกว่าผนังจะแห้งสนิทก่อน จึงค่อยใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ทาผิวไม้ หากจะทาสี ควรทาสีด้านในบ้านก่อน จึงค่อยทาสีด้านนอก
- ผนังก่ออิฐฉาบปูน : ให้ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาด แล้วทิ้งไว้จนกว่าผนังจะแห้งสนิท และควรย้ายเฟอร์นิเจอร์ให้ห่างจากผนังก่อน จะช่วยให้ระบายความชื้นได้เร็วขึ้น
- ผนังยิบซั่มบอร์ด : แผ่นยิบซั่มบอร์ดเป็นผงปูนยิบซั่มที่หุ้มด้วยกระดาษ เมื่อถูกน้ำท่วมจะเปื่อยยุ่ย ดังนั้นจึงต้องเลาะเอาแผ่นยิบซั่มออกจากตัวโครงคร่าวผนัง ถ้าโคร่งคร่าวด้านในเป็นโลหะ ก็สามารถติดแผ่นใหม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นโคร่งคร่าวไม้ ต้องรอให้ความชื้นระเหยออกก่อน จึงค่อยบุแผ่นใหม่เข้าแทนที่ และถ้ามีฉนวนกันความร้อนในผนังก็ต้องรื้อส่วนที่เปียกชื้นทิ้งให้หมดและเปลี่ยนใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดเชื้อราและเพื่อรักษาประสิทธิภาพของฉนวน
- ผนังที่ทำด้วยโลหะ หรือ กระจก : โดยมากมักไม่เป็นอะไรเพียงแค่ทำความสะอาด และเช็คตามซอก ไม่ให้มีสิ่งสกปรกหรือน้ำติดอยู่
- คราบโคลนหรือคราบเกลือ : ให้ใช้ผ้าชุบน้ำ หรือผ้าชุบสบู่ เช็ดออก
- คราบน้ำมัน : ใช้น้ำส้มสายชูผสมเบกกิ้งโซดาในอัตราส่วนเท่ากัน หรือใช้น้ำยาขจัดคราบไขมัน เช็ดออก
- คราบตะไคร่น้ำและคราบเชื้อรา : ใช้โซเดียมไฮโปคอลไรต์หรือน้ำยาฟอกขาว ล้างออก
ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม 6 : เช็คพื้น
- พื้นผิวทั่วไป : ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา ฉีดลงบนพื้นผิวที่ต้องการทำความสะอาด ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วใช้แปรงขัด จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด อย่าลืมสวมถุงมือยาง และ หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันตนเองด้วยนะคะ
- พื้นไม้ปาร์เกต์ : หากพื้นไม้ปาร์เกต์ ไม่เสียหายมาก ควรทำความสะอาดพื้น เช็ดให้แห้ง และปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง โดยเปิดประตูหรือหน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเท อาจใช้พัดลมช่วยเป่าอีกแรง ไม่กี่วันไม้ก็จะคืนสภาพ แต่หากไม้ บิดงอ บวม เบี้ยว ผุกร่อน มีกลิ่นเหม็น ควรเลาะออกทิ้ง แล้วรอให้พื้นแห้งสนิท ก่อนจ้างช่างมาปูทับใหม่ ทั้งนี้ ห้ามนำ แลคเกอร์ หรือแว็กซ์ ทาทับตอนที่พื้นไม้ยังมีความชื้นอยู่ เพราะสารเหล่านี้จะไปเคลือบผิวไม้ ทำให้ความชื้นในเนื้อไม้ไม่สามารถระเหยออกมาได้
ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม 7 : เช็คเฟอร์นิเจอร์
- เฟอร์นิเจอร์ไม้ : ควรทำความสะอาดและปล่อยให้แห้งในที่ร่ม หรืออาจใช้พัดลมช่วยเป่า ไม่ควรนำไปตากแดดโดยตรง เพราะอาจทำให้ไม้บิดงอเสียหายจนอาจใช้งานไม่ได้อีก กรณีที่ต้องการทาสีทับไปบนเฟอร์นิเจอร์ไม้ ต้องรอให้มั่นใจว่าเนื้อไม้แห้งสนิทแล้ว เพื่อไม่ให้ความชื้นค้างอยู่ด้านใน
- เฟอร์นิเจอร์วัสดุอมน้ำ : เฟอร์นิเจอร์ที่มีส่วนประกอบของวัสดุประเภท ฟองน้ำ นุ่น หรือใยมะพร้าว อย่างเช่น เก้าอี้ โซฟา ที่นอน หากแช่น้ำชำรุดจนยากที่จะทำความสะอาดแล้ว ก็ควรตัดใจทิ้งไปดีกว่าค่ะ เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ติดมากับน้ำสกปรก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
- เฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน : ให้ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค โดยเปิดประตูและหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท หรืออาจใช้พัดลมช่วยเป่า และรอให้แห้งสนิทก่อนใช้งานต่อไป โดยหากชำรุดมาก ไม่สามารถใช้งานต่อได้ ก็ต้องจ้างช่างมาซ่อมแซมไปตามสภาพความเสียหาย
ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม 8 : เช็คห้องส้วม
กรณีมีน้ำท่วมขังบ่อเกรอะ บ่อซึม อาจทำให้ของเสียไม่สามารถซึมออกไปได้และอาจจะทำให้น้ำไหลย้อนขึ้นกลับเข้ามาในบ่อ ส่งผลให้ส้วมราดไม่ลง วิธีแก้ปัญหาคือ
- ใช้ลูกยางปั๊ม สวมหัวลูกยางลงในคอห่าน กดปั๊มเป็นจังหวะ เพื่อดันสิ่งอุดตันให้ไหลออกไป
- หากไม่ได้ผล ให้ใช้โซดาไฟ โดยนำโซดาไฟมาละลายน้ำอุ่น ราดลงในส้วมหรือท่อที่ตัน รอประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้โซดาไฟ ทำปฎิกิริยา จากนั้นนำน้ำร้อนมาราด เพื่อไม่ให้โซดาไฟจับตัวกันเป็นก้อน หลังจากนั้นกดชักโครกซ้ำอีกครั้ง อย่าลืมสวมถุงมือยาง หน้ากากอนามัย แว่นตาเพื่อป้องกันสารเคมีด้วยนะคะ
- หากยังไม่ได้ผล ก็ต้องเรียกช่างหรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยตรวจสอบและแก้ไขปัญหาอีกทีค่ะ
ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม 9 : เช็คประตูบ้าน
- ประตูไม้ : เมื่อโดนน้ำท่วม ประตูไม้อาจบวม ทำให้ผิดรูป ส่งผลให้เปิดปิดประตูยาก และปิดได้ไม่สนิท ให้ถอดประตูออกมาเช็ดทำความสะอาด และผึ่งไว้ให้แห้ง แต่หากไม่สามารถแก้ไขได้ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนบานใหม่ค่ะ
- ประตูเหล็ก : เมื่อแช่น้ำนาน ๆ ประตูเหล็กอาจเกิดสนิมขึ้นได้ ให้ใช้น้ำยาขัดสนิม แล้วเช็ดทำความสะอาด ถ้าต้องการทาสีทับ ก็สามารถทำได้หลังจากรอให้ประตูแห้งสนิทแล้ว
- ประตูพลาสติกหรือวัสดุสังเคราะห์ : วัสดุเหล่านี้จะทนน้ำ จึงไม่ค่อยเกิดปัญหาอะไร แต่ควรตรวจสอบว่ามีน้ำขังอยู่ภายในบานประตูหรือไม่ หากมีต้องพยายามเช็ดน้ำออกให้หมด โดยอาจใช้วิธีเจาะรูเล็ก ๆ 3-4 รู เพื่อระบายน้ำด้านในออกมาค่ะ
ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม 10 : เช็ค อุปกรณ์ที่มีเหล็ก เป็นองค์ประกอบ
อุปกรณ์ที่มีเหล็ก เป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น บานพับ ลูกบิด รูกุญแจ เหล็กดัด จะต้องเช็ดทำความสะอาดให้แห้งสนิท หากมีสนิม ให้ขัดออกด้วยกระดาษทราย จากนั้นควรใช้น้ำยาหล่อลื่น หยอดตามจุดต่อ ตามข้อต่อ ตามรูต่าง ๆ ให้ทั่ว ทั้งนี้ กรณีที่พบว่าไม่สามารถขัดสนิมออกไปได้จริง ๆ ก็ควร เปลี่ยนใหม่เพื่อความสะดวกและความปลอดภัย
ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม 11 : เช็ครางน้ำ ท่อน้ำ บ่อพักน้ำ
เช็คบริเวณรางน้ำ ท่อน้ำ บ่อพักน้ำว่า มีเศษขยะ หรือ โคลนมาติดอยู่หรื่อไม่ หากพบสิ่งอุดตัน ให้ใช้พลั่วตักออก นำใส่ถุงขยะ มัดให้แน่นก่อนนำไปทิ้ง ห้ามใช้น้ำฉีดไล่ลงไปตามท่อ เพราะจะทำให้อุดตันมากยิ่งขึ้น และไม่ควรนำโคลนนั้นไปทำเป็นปุ๋ย เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่า โคลนเหล่านี้ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ซี่งอาจทำให้เกิดอันตรายภายหลังได้
ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม 12 : เช็ครั้วบ้าน
- หากรั้วเอียง : ให้หาไม้หรือเหล็กที่สามารถรับน้ำหนักรั้วได้มาค้ำยันด้านที่เอียงออกเอาไว้ชั่วคราวแล้วติดต่อให้ช่างมาทำการซ่อมแซมให้
- หากรั้วทรุด : ต้องรื้อถอนออกและทำใหม่
- หากพื้นดินบริเวณใต้แนวกำแพงรั้วเป็นโพรง : ให้รีบทำแนวอิฐบล็อกแล้วอัดดินเสริมให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้ดินไหลออก ป้องกันไม่ให้รั้วเอียง พัง หรืออาจมีสัตว์อันตรายเข้ามาในบ้านได้
เจมาร์ทอินชัวร์เชื่อว่า บ้านของคุณจะกลับมาสวยงามปกติในเร็ววันอย่างแน่นอนค่ะ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณจะเตรียมพร้อมดูแลบ้านหลังน้ำท่วมอย่างดีแล้ว แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็อาจเกิดขึ้นในชีวิตได้เสมอ คุณจึงควรมีตัวช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับทุกคนในครอบครัว ด้วยประกันภัยบ้านอยู่อาศัย Happy home plus จาก เจมาร์ทอินชัวร์ ที่ครอบคลุมทุกความต้องการ
สนใจติดต่อสอบถามค้นหาประกันภัยที่เหมาะสมกับคุณได้ที่ เจมาร์ทอินชัวร์ โทร. 02 099 0555 ต่อ 4262 หรือที่ LINE : @jaymartinsurance ค่ะ
By Jaymart Content Team : RIYA