นอกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เราต้องระมัดระวังกันอย่างเคร่งครัดแล้ว ในช่วงหน้าฝนนี้ ยังมีอีกสิ่งที่ต้องระวัง นั่นก็คือยุง ที่สามารถนำพาโรคร้ายต่าง ๆ มาสู่เราได้ เจมาร์ทอินชัวร์ นำข้อมูล 3 โรคที่เกิดจากยุง ที่อาจมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ มาฝากกันค่ะ
โรคไข้เลือดออก
สาเหตุ/พาหะ โรคไข้เลือดออก : โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค
อาการ โรคไข้เลือดออก : อาการของผู้เป็นไข้เลือดออก อาจเกิดขึ้นได้หลายแบบ แตกต่างกัน เช่น ในเด็กอาจมีอาการไข้และเป็นผื่น ในผู้ใหญ่อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ฯลฯ โดยอาจสังเกตลักษณะสำคัญของอาการไข้เลือดออกได้ดังนี้
- มีไข้สูงเฉียบพลัน ประมาณ 2-7 วัน
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
- หน้าแดง อาจมีจุดเลือดสีแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา
- อาจเลือดออกง่าย อาจมีเลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน หรือมีเลือดออกในอวัยวะภายใน
- ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ เนื่องจากเลือดออก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการช็อคได้
- ในรายที่ช็อคจะสังเกตได้จากการที่ไข้ลดแต่ผู้ป่วยซึมลง ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว หมดสติ ซึ่งอาจถึงเสียชีวิตได้
การดูแลรักษา ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก : หากสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะในรายที่รุนแรง เพราะอาจถึงชีวิตได้ ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษา หรือวัคซีนป้องกัน การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการไม่มาก เบื้องต้นอาจให้ดูแลรักษาเองที่บ้านได้ โดยให้ทานยาลดไข้ พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน แอสไพริน เพราะถ้าเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้จะส่งผลทำให้เสี่ยงมีอาการหนักมากยิ่งขึ้น แต่หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
การป้องกัน โรคไข้เลือดออก : แม้จะยังไม่มียาที่ใช้รักษา หรือวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก แต่เราสามารถป้องกันตัวเองและคนรอบข้างให้ห่างไกลจากโรคได้ถึง 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนย่า หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า โดย
- ดูแลสภาพแวดล้อมของบ้าน ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- ดูแลตนเอง ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน ควรทายากันยุง และมีอุปกรณ์ป้องกันยุง อย่างเช่น มุ้งลวด และ มุ้ง โดยหากจำเป็น ให้ฉีดสเปรย์กำจัดยุงที่ปลอดภัย
โรคชิคุนกุนย่า (ไข้ปวดข้อยุงลาย)
สาเหตุ/พาหะ โรคชิคุนกุนย่า : เกิดจากการที่ร่างกายติดเชื้อ ชิคุนกุนยาไวรัส โดยมียุงลายเป็นพาหะโรค เช่นเดียวกับที่เป็นพาหะโรคไข้เลือดออก
อาการ โรคชิคุนกุนย่า : มีอาการคล้ายโรคไข้เลือดออกมาก แต่โรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรงกว่า โดยผู้ป่วยโรคชิคุนกันย่าจะมีอาการดังนี้
- มีอาการไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ประมาณ 2-4 วัน
- มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย อาจมีอาการคันร่วมด้วย และบางรายอาจมีตาแดง
- มีอาการปวดข้อ และอาจมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย เช่น ข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อเท้า ข้อศอก ข้อเข่า บางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นขยับข้อไม่ได้ โดยทั่วไปอาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ แต่ในบางรายอาจพบอาการปวดข้อเรื้อรังได้
- ไม่พบการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการช็อก
- ในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่
การดูแลรักษา ผู้ป่วยโรคชิคุนกุนย่า : ควรดูแลให้ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ หากมีอาการไข้สูง ปวดข้อ ผื่นขึ้น ให้รีบพบแพทย์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษา หรือวัคซีนป้องกันชิคุนกุนย่า จึงเป็นลักษณะการรักษาไปตามอาการ เช่น เช็ดตัวให้ผู้ป่วยเพื่อช่วยลดไข้ และให้ทานพาราเซตามอล (หลีกเลี่ยง ไอบูโพรเฟน แอสไพริน) การให้น้ำเกลือ ให้ยาบรรเทาปวดข้อ เป็นต้น
การป้องกัน โรคชิคุนกุนย่า : ยังไม่มียาที่ใช้รักษา หรือวัคซีนป้องกันชิคุนกุนย่า แต่เราสามารถป้องกันตัวเองและคนรอบข้างให้ห่างไกลจากโรคได้ โดยระมัดระวังสภาพแวดล้อมของบ้าน และระวังตัวเองไม่ให้โดนยุงลายกัด ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการป้องกันโรคไข้เลือดออก เนื่องจากมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเหมือนกัน
โรคมาลาเรีย
สาเหตุ/พาหะ โรคมาลาเรีย : เกิดจากเชื้อปรสิตพลาสโมเดียมโดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งจะพบได้มากบริเวณป่า ไร่นา พื้นที่รก อากาศร้อนชื้น และแหล่งน้ำต่าง ๆ
อาการ โรคมาลาเรีย : อาการทั่วไปคือ มีไข้ ปวดศรีษะ หนาวสั่น คล้ายเป็นหวัด แต่รุนแรงกว่า โดยอาจสังเกตลักษณะสำคัญของอาการมาลาเรียได้ดังนี้
- เริ่มจากอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายไข้หวัดใหญ่
- จากนั้น มีอาการ ไข้จับสั่น ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของมาลาเรีย โดยการจับไข้จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 : ระยะหนาว เริ่มด้วยมีไข้ หนาวสั่น ผิวมักจะซีด แห้งหยาบ
- ระยะที่ 2 : ระยะร้อน จะมีไข้ขึ้นสูง ผู้ป่วยจะรู้สึกร้อน ตัวร้อน ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย กระหายน้ำ ในเด็กมักมีอาการชัก
- ระยะที่ 3 : ระยะเหงื่อออก ผู้ป่วยจะเริ่มเหงื่อออกจนชุ่ม หลังจากนั้น ไข้จะค่อย ๆ ลดลง ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย จนอาจหลับไป และหายเป็นปกติในที่สุด
การดูแลรักษา ผู้ป่วยโรคมาลาเรีย : โรคมาลาเรียเป็นโรคร้ายแรง สามารถทำให้เสียชีวิตได้ แต่ก็สามารถรักษาได้ หากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้นควรใส่ใจพาผู้ป่วยพบแพทย์ทันทีที่พบอาการ โดยแพทย์จะรักษาด้วยการดูแลประคับประคองอาการ รักษาภาวะแทรกซ้อน และให้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย
การป้องกัน โรคมาลาเรีย : โรคมาลาเรียมักเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องใช้เวลาอยู่ในบริเวณป่า ไร่นา หรือที่รก จึงควรมีวิธีการป้องกันดังนี้
- ดูแลสภาพแวดล้อมของบริเวณที่อยู่อาศัย ไม่ให้มีน้ำขัง ไม่ให้มีมุมอับทึบ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด
- ดูแลตนเอง ป้องกันไม่ให้ยุงกัด สวมเสื้อผ้ามิดชิด ทายากันยุง หรือ จุดยากันยุง และมีอุปกรณ์ป้องกันยุง อย่างเช่น มุ้งลวด และ มุ้ง
- หากต้องค้างคืนในไร่นาหรือป่าเขา หรือพื้นที่เสี่ยงเป็นประจำ เมื่อกลับมาต้องสังเกตอาการ หากมีไข้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเชื้อมาลาเรียทันที
- ใช้ยาป้องกันมาลาเรียเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจเกิดอาการข้างคียงต่าง ๆ ได้ และแม้ว่ากินยาแล้ว ก็ยังอาจติดเชื้อมาลาเรียได้
ข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ RAMA CHANEL มหิดล, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, โรงพยาบาลบำรุงราษฎ์, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, โรงพยาบาลวิชัยยุทธ, โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต, โรงพยาบาลเขลางค์นคร-ราม
และแม้ว่าเราจะป้องกัน ดูแลปกป้องสุขภาพของเราและคนครอบครัวอย่างดีแล้ว แต่เหตุการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ ก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เราจึงควรหาตัวช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้กับตัวเองและครอบครัว อย่างประกันภัยโรคจากยุง จาก เจมาร์ทอินชัวร์ ที่คุ้มครองทั้ง 3 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออก ชิคุนกุนย่า และ มาลาเรีย
สนใจสอบถามได้ที่ เจมาร์ทอินชัวร์ โทร. 02 099 0555 ต่อ 4262 หรือที่ LINE : @jaymartinsurance ค่ะ
By Jaymart Ins Content Team : RIYA