ข่าวสารและบทความ

7 ข้อมูลต้องรู้ ไข้เลือดออก 2564

7 ข้อมูลต้องรู้ ไข้เลือดออก 2564

     นอกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เราต้องระมัดระวังกันอย่างมากแล้ว ยังมีอีกโรคที่มาพร้อมกับหน้าฝน ที่เราจะละเลยไปไม่ได้ นั่นก็คือ โรคไข้เลือดออก ที่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เจมาร์ท ประกันภัย จึงได้รวบรวมข้อมูลสำคัญของโรคไข้เลือดออก ในปี 2564 นี้ และวิธีป้องกันมาฝากดังนี้ค่ะ

     1. สถานการณ์โรคไข้เลือดออกปี 2564 : สถานการณ์โรคไข้เลือดออกใน 5 เดือนแรกของปีนี้ จากกรมควบคุมโรค พบว่ามีรายงานผู้ป่วยลดลงเกือบ 80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเพิ่มความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ การปิดสถานที่สาธารณะ และการ Work from Home เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2564 มีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการป้องกันโรคไข้เลือดออกต่อไป 

 

     2. สถิติโรคไข้เลือดออกปี 2564 : สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-9 พฤษภาคม 2564 พบผู้ป่วย 2,701 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมา 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ระนอง นครปฐม แม่ฮ่องสอน และระยอง ตามลำดับ

 

     3. กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตจาก ไข้เลือดออก : สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นั่นก็คือ กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-4 ปี และวัยผู้ใหญ่ ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปที่มักมีโรคประจำตัว และเมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออก ก็จะมีภาวะแทรกซ้อน ส่งผลให้รักษาได้ยาก นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ส่วนมาก เมื่อมีอาการป่วย ก็มักไปหาซื้อยารับประทานเอง ทำให้ไม่ได้ไปพบแพทย์ และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ  

 

     4. สาเหตุการติดเชื้อไข้เลือดออก : ไวรัสเดงกี เป็นสาเหตุของไข้เลือดออก มี 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี 1, 2, 3 และ 4 โดยในประเทศไทยมีการระบาดของทั้ง 4 สายพันธุ์ ต่างกันไปแต่ละพื้นที่ โดยไวรัสเดงกีมียุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะที่เกิดจากยุงลายตัวเมีย ซึ่งออกหากินในเวลากลางวัน เมื่อไปกัดผู้ที่เป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูง เชื้อก็จะเข้าไปสะสมในเซลล์ผนังกระเพาะจนเพิ่มจำนวนมากขึ้น เข้าสู่ต่อมน้ำลาย โดยเชื้อไวรัสเดงกี จะมีระยะฟักตัวในตัวยุงประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงไปกัดคนต่อ ก็จะแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายของคนที่ถูกกัดนั้น และเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนจะมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 3-8 วัน หรืออาจยาวนานที่สุดถึง 15 วัน ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้  

 

     5. วิธีป้องกันไข้เลือดออก : กรมควบคุมโรค แนะนำให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเน้นมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 
1. เก็บบ้าน ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์  
2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง   
3. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ 
โดยจะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย 
นอกจากนี้ ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน ควรทายากันยุง และมีอุปกรณ์ป้องกันยุง อย่างเช่น มุ้งลวด และ มุ้ง โดยหากจำเป็น ให้ฉีดสเปรย์กำจัดยุงที่ปลอดภัย 

หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

     6. อาการของไข้เลือดออก : อาการของผู้เป็นไข้เลือดออก อาจเกิดขึ้นได้หลายแบบ แตกต่างกัน เช่น ในเด็กอาจมีอาการไข้และเป็นผื่น ในผู้ใหญ่อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตามหากสงสัยว่าเป็นโรคนี้ ก็ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพื่อรับการรักษา เพราะความรุนแรงของโรคอาจถึงชีวิตได้ โดยอาจสังเกตลักษณะสำคัญของอาการไข้เลือดออกได้ดังนี้ 
-    มีไข้สูงเฉียบพลัน ประมาณ 2-7 วัน
-    เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย 
-    อาจมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา 
-    อาจมีเลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟัน 
-    ถ่ายอุจจาระดำเนื่องจากเลือดออก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการช็อคได้
-    ในรายที่ช็อคจะสังเกตได้จากการที่ไข้ลดแต่ผู้ป่วยซึมลง ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว หมดสติ ซึ่งอาจถึงเสียชีวิตได้

 

     7. ข้อควรปฏิบัติเมื่อสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก : ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดนี้ แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กล่าวว่าหากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 จึงขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน โดยให้เลือกรับประทานยาแก้ไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการทานยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน แอสไพริน เพราะถ้าเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้จะส่งผลทำให้เสี่ยงมีอาการหนักมากยิ่งขึ้น หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค,  www.thairath.co.th/news/local/bangkok/210988,  www.thaihealth.or.th/Content/40458-วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก.html, www.hfocus.org/content/2020/04/19051,  www.lpnh.go.th/icenter-health/index2.php, https://vibhavadi.com/health797, www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/บทความ-โรคติดต่อ-เชื้อไวรัส/ไข้เลือดออก-อาการเริ่มต้นที่ต้องเฝ้าระวัง, www.bangpakok1.com/care_blog/view/30, www.siamhealth.net/public_html/Disease/infectious/dhf/prevention.htm

จะเห็นได้ว่า ไข้เลือดออกนั้น แม้เรายังไม่มียาที่ใช้รักษา หรือวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก แต่เราสามารถป้องกันตัวเองและคนรอบข้างให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้    
และแม้ว่าเราจะป้องกัน ดูแลปกป้องสุขภาพของเราและคนครอบครัวอย่างดีแล้ว แต่เหตุการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ ก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เราจึงควรหาตัวช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้กับตัวเองและครอบครัว อย่างประกันภัยของ เจมาร์ท ประกันภัย โดยสามารถติดต่อสอบถามประกันภัยที่เหมาะสมกับคุณได้ที่ 02 099 0555 ต่อ 7102 7103 และ 1112 หรือที่ ที่ LINE : @jaymartinsurance ค่ะ
 
By Jaymart Content Team : RIYA