โรคที่เกิดขึ้นในเด็ก มีอยู่หลายโรค ซึ่งพ่อแม่ควรศึกษาเพื่อรู้วิธีป้องกัน และเข้าใจอาการ หรือสังเกตอาการ เนื่องจากมีหลายโรคที่มีอาการใกล้เคียงกันมาก จนแยกแยะค่อนข้างยาก และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หรือมีอันตรายถึงชีวิตได้ วันนี้ เจพีประกันภัย ได้นำข้อมูลโรคที่เกิดในเด็ก มาฝาก 4 โรคสำคัญ ๆ ดังนี้ค่ะ
โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ มักเป็นกันในสภาวะที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย และพบได้ทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ รวมไปถึงสตรีมีครรภ์ และ ผู้สูงอายุ ด้วย ผู้ปกครองจึงควรเฝ้าระวังเด็ก ๆ และควรรู้วิธีป้องกันและแนวทางการรักษาที่ถูกต้องด้วย
สาเหตุ โรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส อินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ที่อยู่ในอากาศ หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำลาย น้ำมูก หรือ เสมหะ ที่อาจมาจากการ ไอ จาม โดยเชื้อไวรัส อินฟลูเอนซา สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ ๆ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B โดยสายพันธุ์ A เป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ได้ง่าย ซึ่งหากจะรักษาไข้หวัดใหญ่ให้หายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องทราบถึงสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ที่ผู้ป่วยมีเชื้ออยู่
อาการ โรคไข้หวัดใหญ่
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่นั้นอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่ จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามร่างกาย เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คัดจมูก มีน้ำมูกใส จาม คอแห้ง เจ็บคอ อาจมีอาเจียน และท้องเสียร่วมด้วย โดยสำหรับอาการในเด็กเล็กอาจมีอาการที่รุนแรงกว่า หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือติดเชื้อแทรกซ้อน เพราะร่างกายของเด็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่มากเพียงพอ ทั้งนี้การตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่จะได้ผลตรวจที่แม่นยำหลังมีไข้ ประมาณ 24 ชั่วโมง
ความรุนแรงของโรค / ภาวะแทรกซ้อน โรคไข้หวัดใหญ่
โดยทั่วไปเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากอาการรุนแรงและลุกลามอาจมีโรคแทรกซ้อนก็คือ ไซนัสอักเสบ โรคปอดอักเสบติดเชื้อ หลอดลมอักเสบ ซึ่งหากอาการรุนแรงมาก ก็จะเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวได้ ซึ่งนอกจากผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังอันได้แก่ โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน โรคอ้วนแล้ว เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ก็เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือการเสียชีวิตได้ จึงต้องได้รับการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การดูแลเบื้องต้น โรคไข้หวัดใหญ่
เมื่อลูกเป็นไข้หวัดใหญ่ ผู้ปกครองควร ดูแลให้ลูกนอนพักผ่อนให้มาก ปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม ให้สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ดื่มน้ำให้เพียงพอ เตรียมอาหารอ่อน และให้รับประทานยาลดไข้ทุก 6 ชั่วโมง ซึ่งยาลดไข้ที่เป็นที่นิยมก็คือ พาราเซตามอล ที่มีความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงน้อย และไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร แต่หากลูกมีอาการหนักขึ้น อย่างเช่น มีไข้สูง อ่อนพลียมาก กินอาหารไม่ได้ ไอมาก มีเสมหะข้นสีเหลืองหรือสีเขียว ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
การรักษา โรคไข้หวัดใหญ่
การรักษาโดยทั่วไปคือการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งได้ผลดี เมื่อให้ในช่วง 3 วันแรก หลังมีอาการ และให้ยาอื่น ๆ เป็นการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดน้ำมูก และยาละลายเสมหะ ยาลดไข้ ทั้งนี้ยาปฏิชีวนะไม่มีผลฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
การป้องกัน โรคไข้หวัดใหญ่
ควรพาลูกไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในการฉีดแต่ละครั้ง จะสามารถป้องกันได้นานถึงหนึ่งปี นอกจากนี้ ควรป้องกันไม่ให้เด็กคลุกคลีกับคนที่ป่วย ปลูกฝังเรื่องความสะอาด เช่น การล้างมือ การใส่หน้ากาก การแยกของใช้ให้เป็นส่วนตัว และจัดเตรียมให้ลูกได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมั่นใจว่าสะอาด และดูแลสุขภาพของลูกโดยทั่วไปให้แข็งแรง
ที่มาของข้อมูล โรคไข้หวัดใหญ่ : เว็บไซต์ ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4, เว็บไซต์โรงพยาบาลเวชธานี, เว็บไซต์ โรงพยาบาลสุขุมวิท, เว็บไซต์ โรงพยาบาลสมิติเวช, เว็บไซต์ โรงพยาบาลกรุงเทพ, เว็บไซต์ ธนาคารไทยพาณิชย์
โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือเท้าปากเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบได้บ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กที่อยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น ในโรงเรียนอนุบาล หรือ สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก เป็นต้น โรคนี้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี มักมีการระบาดช่วงฤดูฝน เป็นโรคที่ป้องกัน รักษาได้ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่ในกรณีที่มีสมองอักเสบร่วมด้วย อาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
สาเหตุ โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส กลุ่มเอนเตอโรไวรัส Enterovirus มักระบาดมากในฤดูฝน มีการติดต่อทางการรับเชื้อเข้าปากโดยตรงผ่านทางสิ่งคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ตลอดจนน้ำจากตุ่มพองและแผลตามร่างกายของผู้ป่วย ทั้งยังสามารถติดต่อทางอ้อมจากการที่เด็ก ๆ สัมผัสผ่านของเล่น หรือน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ ได้อีกด้วย
อาการ โรคมือ เท้า ปาก
เด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้ ต่อมาอีก 1-2 วันจะมีอาการเจ็บปาก ทำให้กินอาหารได้น้อย เนื่องจากแผลในปาก ซึ่งอาจพบได้ทั้ง บริเวณ เพดานอ่อน เพดานแข็ง กระพุ้งแก้ม ลิ้น หรืออาจลามมาถึงริมฝีปาก และอาจพบผื่นเป็นตุ่มน้ำที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และรอบทวารหนักอีกด้วย แต่ส่วนมากจะหายได้เองภายใน 7 วัน
ความรุนแรงของโรค / ภาวะแทรกซ้อน โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือเท้าปากโดยทั่วไปไม่น่ากลัว ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 7 วัน พบได้น้อยที่มีอาการรุนแรง โดยเด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง อาเจียน มือสั่น ขาสั่น เดินเซ หายใจหอบ หายใจเร็ว มีอาการชัก เกร็ง หมดสติ หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การดูแลเบื้องต้น โรคมือ เท้า ปาก
เมื่อสังเกตเห็นว่าเด็กน่าจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ผู้ปกครองควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ ควรให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหายดี กรณีที่เด็กไม่ยอมทานอาหาร พ่อแม่สามารถให้ทานไอศกรีมนิ่ม ๆ เย็น ๆ ได้ เพราะความเย็น จะช่วยลดความรู้สึกเจ็บในปาก และช่วยลดภาวะขาดน้ำได้ และควรเฝ้าระวังสังเกตอาการของลูกให้ดี หากพบอาการรุนแรงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ควรจะพาลูกไปพบแพทย์อีกครั้งทันที
การรักษา โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือเท้าปากยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ โดยทั่วไปแพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้ ก็ให้กินยาลดไข้ หรือเช็ดตัว หรือถ้ามีอาการคัน ก็ให้กินยาแก้แพ้ แก้คัน หากเจ็บปากก็อาจให้ยาชาอมกลั้วปากลดอาการเจ็บ หรือหากกินอาหารไม่ได้เลย ก็อาจต้องให้น้ำเกลือ เป็นต้น
การป้องกัน โรคมือ เท้า ปาก
แม้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากโดยเฉพาะ แต่ก็ยังสามารถป้องกันได้โดยการปลูกฝังสุขอนามัยให้กับลูกอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการล้างมือบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร และเมื่อมือเปื้อนคัดหลั่ง เช่นน้ำมูก น้ำลาย หรือหลังจากเข้าห้องน้ำ รวมไปถึงเมื่อสัมผัสวัตถุต่าง ๆ ทั่วไปที่ไม่มั่นใจในความสะอาด ก็ควรล้างมือเช่นกัน และควรสอนให้ลูกหลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน แก้ว ผ้าเช็ดหน้า นอกจากนี้ ควรตัดเล็บลูกให้สั้น ไม่ควรพาลูกไปในที่ที่แออัดพลุกพล่าน และควรหมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่น และดูแลความสะอาดสภาพแวดล้อมของลูกเสมอ
ที่มาข้อมูล โรคมือเท้าปาก : เว็บไซต์ แพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, เว็บไซต์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, เว็บไซต์ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย, เว็บไซต์ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, เว็บไซต์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
โรคตาแดง/โรคเยื่อบุตาอักเสบ
โรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบนั้น เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ดวงตา ซึ่งจะทำให้เยื่อบุตาอักเสบ สามารถลุกลามจากตาข้างหนึ่งไปสู่อีกข้างหนึ่ง และจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่เด็กเล็กมักจะเป็นได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากอยู่ในวัยที่ใช้มือสัมผัสสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่ระวัง และนำมือที่สัมผัสเชื้อมาสัมผัสหรือขยี้ตา เด็ก ๆ ส่วนใหญ่จึงเป็นโรคนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงกำลังซน
สาเหตุ โรคตาแดง/โรคเยื่อบุตาอักเสบ
โรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือโรคภูมิแพ้ โดยแบ่งสาเหตุหลัก ๆ ได้ 2 แบบ
- สาเหตุจากการติดเชื้อ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งติดต่อกันได้โดยการสัมผัสสิ่งของที่มีการปนเปื้อนเชื้อแล้วไปสัมผัสดวงตา อาจมาจากการใกล้ชิดผู้ป่วย และสัมผัสถูกสารคัดหลั่ง รวมถึงใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
- สาเหตุจากปฏิกิริยาการแพ้ เช่น โรคภูมิแพ้ ทำให้มีอาการคันตาและขยี้ตาบ่อย ๆ หรือเกิดจากการแพ้ยา ทำให้มีการระคายเคืองจนเผลอขยี้ตา ซึ่งจะไม่ติดต่อหรือแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
อาการ โรคตาแดง/โรคเยื่อบุตาอักเสบ
- โรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส จะทำให้ตาแดง ปวดตา เคืองตา น้ำตาไหล เปลือกตาบวมแดง ตาสู้แสงไม่ได้ โดยมากจะหายเองภายใน 2-3 สัปดาห์
- โรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ตาจะแดงเข้มมาก ขี้ตาเยิ้มแฉะ สีจะออกเหลืองอมเขียว ซึ่งจะเกิดมากหลังตื่นนอน และมักทำให้ลืมตาไม่ขึ้นเพราะขี้ตาทำให้ขนตาบนและขนตาล่างติดกัน แต่ไม่ค่อยปวดหรือเคืองตามาก
- โรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ ที่เกิดจากภูมิแพ้ ตาจะไม่แดงมากนัก ตาชื้นแฉะเนื่องจากมีปริมาณน้ำในดวงตามากขึ้น จะรู้สึกคันตา จึงอาจเผลอขยี้ตา และทำให้เยื่อบุตาบวมซ้ำหรือติดเชื้อได้ อาการมักเป็น ๆ หาย ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่นานเท่าอาการจากการติดเชื้อ
ความรุนแรงของโรค / ภาวะแทรกซ้อน โรคตาแดง/โรคเยื่อบุตาอักเสบ
โรคตาแดง/โรคเยื่อบุตาอักเสบ ไม่ใช่โรคร้ายแรง โดยทั่วไปจะหายเองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ในบางรายอาจมีอาการรุนแรง เป็นเรื้อรังไปถึง 3-4 สัปดาห์ โดยเฉพาะหากเกิดจากเชื้อไวรัส อาจทำให้ลุกลามไปเกิดการอักเสบที่กระจกตาตำร่วมด้วย ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์จนกว่าจะหายดี และพ่อแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะหากเป็นโรคนี้นาน ๆ ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก ๆ ได้
การรักษา โรคตาแดง/โรคเยื่อบุตาอักเสบ
พ่อแม่ควรพาลูกไปพบจักษุแพทย์ เนื่องจากวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคเยื่อบุตาอักเสบที่พวกเขาเป็น
- หากเป็นการติดเชื้อไวรัส แพทย์จะรักษาตามอาการ เพราะยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง และต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการเรื่อย ๆ การรักษาอาจใช้วิธีหยอดน้ำตาเทียม หรือยาหยอดตาเพื่อช่วยลดการอักเสบของดวงตา ทั้งนี้หากมีการติดเชื้อไปยังกระจกตาดำ ต้องใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ร่วมด้วยจนกว่าอาการจะดีขึ้น
- หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะสั่งยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ เพื่อการฆ่าเชื้อ และคอยประคบเย็น ครั้งละ 5-10 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อลดอาการบวมของเปลือกตา และรู้สึกสบายตามากขึ้น
- หากมีสาเหตุจากอาการแพ้ แพทย์อาจสั่งยาประเภทแอนตี้ฮีสตามีนเพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง
- พ่อแม่สามารถช่วยบรรเทาอาการของลูกได้ด้วยการทำความสะอาดขี้ตารอบ ๆ ดวงตาอย่างนุ่มนวลด้วยสำลีแช่ในน้ำอุ่น โดยเริ่มเช็ดจากหัวตาออกไปที่หางตา เพื่อป้องกันไม่ให้ดวงตาอีกข้างติดเชื้อ นอกจากนี้ ต้องใช้สำลีแยกกันสำหรับดวงตาแต่ละข้างเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเช่นกัน
การป้องกัน โรคตาแดง/โรคเยื่อบุตาอักเสบ
ป้องกันได้โดยการปลูกฝังสุขอนามัยให้กับลูกอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ออกกำลังกาย และกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานที่แข็งแรง
ที่มาข้อมูล โรคตาแดง/โรคเยื่อบุตาอักเสบ : เว็บไซต์พบแพทย์, เว็บไซต์ รักลูก, เว็บไซต์ Mama Expert Thailand, เว็บไซต์ Mali
โรคคาวาซากิ
โรคคาวาซากิ (Kawasaki’s Disease) ตั้งชื่อตามนายแพทย์ชาวญี่ปุ่น โทมิซากุ คาวาซากิ ผู้ที่ค้นพบโรคนี้ โดยเป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง ส่วนใหญ่พบในเด็กชาวเอเชียที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และ ประเทศจีน โดยในประเทศไทยพบโรคนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่ทราบถึงอุบัติการณ์ที่แน่ชัด และไม่สัมพันธ์กับฤดูกาล
สาเหตุ โรคคาวาซากิ
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคคาวาซากิที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบางชนิด เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองรุนแรงผิดปกติ และมีการสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับทางพันธุกรรม (genetic) ร่วมด้วย และประมาณร้อยละ 25 ของผู้ป่วย จะเกิดการอักเสบของหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจร่วมด้วย ซึ่งหากวินิจฉัยและรักษาได้ภายใน 10 วัน นับจากมีไข้ จะช่วยให้การอักเสบของหลอดเลือดลดลงประมาณร้อยละ 5
อาการ โรคคาวาซากิ
อาการสำคัญคือไข้สูง ปากแดง ตาแดง มือเท้าบวมลอก ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต และมีผื่นตามร่างกาย โดยหากวินิจฉัยช้าหรือให้การรักษาไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้ ดังนั้น การให้การวิเคราะห์และรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงมีความสำคัญมาก โดยภาวะแทรกซ้อนสำคัญ คือ การอักเสบของหลอดเลือดแดงเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโป่งพอง หรืออุดตัน ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดตามมา
ความความรุนแรงของโรค / ภาวะแทรกซ้อน โรคคาวาซากิ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ปัญหาสำคัญของโรคนี้ คือ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่หัวใจและเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ รวมไปถึงการอักเสบกล้ามเนื้อหัวใจรอบ ๆ เส้นเลือด โดยภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ ต้องตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ ซี่งหากไม่ได้รับการรักษาภายในช่วง 7-9 วันแรกของโรค และเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อเด็กมีไข้สูงร่วมกับมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
การรักษา โรคคาวาซากิ
โรคคาวาซากิ ต้องอาศัยการดูแลร่วมกันระหว่างกุมารแพทย์ทั่วไปและกุมารแพทย์โรคหัวใจ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหลอดเลือดแดงหัวใจ โดยการใช้ยา อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดโอกาสการเกิดหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโป่งพอง และยับยั้งการอักเสบ ร่วมกับการใช้ยาแอสไพริน ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดไข้ รวมถึงช่วยแก้ปัญหาการอุดตันของเกล็ดเลือด ซึ่งเด็กที่ได้รับการรักษาในเวลาที่เหมาะสมและถูกวิธีโดยแพทย์ผู้ชำนาญก็จะสามารถหายเป็นปกติได้
การป้องกัน โรคคาวาซากิ
โรคคาวาซากิไม่สามารถป้องกันได้ แต่รักษาได้หากพบแพทย์ภายใน 10 วันหลังจากเริ่มอาการ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหลอดเลือดแดงหัวใจ
ที่มาข้อมูล โรคคาวาซากิ : เว็บไซต์โรงพยาบาลสมิติเวช, เว็บไซต์โรงพยาบาลพญาไท, เว็บไซต์โรงพยาบาลเวิล์ดเมดิคอล, เว็บไซต์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลทักษิณ
และแม้ว่าเราจะป้องกัน ดูแลปกป้องสุขภาพของลูกน้อยอย่างดีแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เราไม่อาจควบคุมได้ ก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เราจึงควรหาตัวช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้กับตัวเองและครอบครัว อย่างประกันภัยสุขภาพสำหรับเด็ก Baby Smile ของ เจมาร์ท ประกันภัย โดยสามารถติดต่อสอบถามประกันภัยที่เหมาะสมได้ที่ 02 099 0555 ต่อ 4262 หรือที่ ที่ LINE : @jaymartinsurance ค่ะ
By Jaymart Content Team : RIYA